กินเค็มมากไป เสี่ยงต่อการได้ยินลดลง

      เค็ม ในที่นี้มาจากการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือและโซเดียม ซึ่งโซเดียมเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่มีอยู่ในเกลือ

      โซเดียมมีความสำคัญในการควบคุมสมดุลของเหลวภายในร่างกาย ช่วยรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปกติ ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ช่วยดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็ก การได้รับโซเดียมในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยส่งเสริมระบบต่างๆ ภายในร่างกาย

 


“ปริมาณการบริโภคโซเดียม ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือ 1 ช้อนชา ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันสูง ไม่ควรเกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือ 3 ส่วน 4 ช้อนชา – ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก”


 

กินเค็ม การได้ยินลดลง

      ด้วยพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทยชอบการปรุงรสเพิ่ม เช่น พริกน้ำปลา ซอสต่างๆ ทำให้ร่างกายได้รับเกลือและโซเดียมมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ไต อวัยวะในการทำหน้าที่ขับของเสียทำงานหนักเนื่องจากต้องขับโซเดียมส่วนเกินออก

      และหากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานเค็มที่มากเกินไปนี้ อาจทำให้เกิดโรคหลายโรคได้ เช่น โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เสี่ยงต่อโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน เป็นต้น

      โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนของโลหิต เมื่อใดที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมอง ระบบประสาทส่วนอื่นๆ ภายในสมอง รวมถึงประสาทหู ประสาทตา จะทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว เวียนศีรษะ บ้านหมุน สูญเสียการทรงตัว สูญเสียการได้ยินเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงที่หูชั้นใน ทำให้ประสาทหูชั้นในอักเสบ (Labyringthitis) นอกจากนี้ยังเกิดอาการหน้าเบี้ยว กลืนลำบาก พูดลำบากหรือฟังไม่เข้าใจ มีอาการชาครึ่งซีก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต

 

ปริมาณเกลือโซเดียมในชีวิตประจำวัน

  • เกลือ 1 ช้อนชา เท่ากับ โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ โซเดียม 1,160 – 1,420 มิลลิกรัม
  • ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ โซเดียม 690 – 1,420 มิลลิกรัม
  • ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ โซเดียม 1,150 มิลลิกรัม
  • กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ โซเดียม 1,430 – 1,490 มิลลิกรัม
  • ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ โซเดียม 420 – 490 มิลลิกรัม

 

        ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมต่ำ รับประทานอาหารสด หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว (อาหารจำพวกนี้จะมีการเติมโซเดียมเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา) อ่านฉลากดูปริมาณเกลือโซเดียมก่อนเลือกซื้อสินค้า เปลี่ยนพฤติกรรมในการปรุงรส ชิมก่อนปรุงรส

การรับประทานเค็มมากเกินไป ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อประสาทหูที่อาจทำให้การได้ยินลดลง แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

 

 

ปรึกษาทุกปัญหาการได้ยินและตรวจการได้ยิน ได้ที่

ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053-271533, 089-0537111
คุยเฟสบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
คุยไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เครือข่ายลดบริโภคเค็ม (สสส.)
สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย
bangkokhealth