เมื่อพูดถึงคาเฟอีน เรามักจะนึกถึงเครื่องดื่มอย่างกาแฟ เครื่องดื่มที่นิยมดื่มกันในตอนเช้า
นอกจากกาแฟที่มีสารคาเฟอีนแล้ว คาเฟอีนยังสามารถพบได้ในอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ชา น้ำอัดลม ช็อกโกแลต โกโก้ เครื่องดื่มชูกำลัง หมากฝรั่ง และในส่วนผสมของยาบางชนิด เป็นต้น
คาเฟอีน (Caffeine) มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ระบบไหลเวียนดีขึ้น มีสมาธิ รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าได้
นอกจากนี้ งานวิจัยยังระบุว่า คาเฟอีนอาจลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด เช่น ตับ ปาก และลำคอ ตลอดจนเบาหวานชนิดที่ 2 โรคพาร์กินสัน และโรคหลอดเลือดสมอง…-ข้อมูลเพิ่มเติม
ปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสม ไม่ควรเกิน 300 – 400 มิลลิกรัมต่อวัน
ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ ดังนี้
– กาแฟดำ 1 แก้ว มีคาเฟอีนประมาณ 80 มิลลิกรัม (กาแฟ 1 ช้อนชา)
– กาแฟกระป๋อง มีคาเฟอีนประมาณ 150 – 160 มิลลิกรัม ต่อกระป๋อง
– กาแฟสด มีคาเฟอีนประมาณ 100 มิลลิกรัม ต่อแก้ว
*กรณีได้รับคาเฟอีนมากกว่า 300 – 400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือมากกว่าที่เคยได้รับปกติ อาจส่งผลทำให้มือไม้สั่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน หรือนอนไม่หลับ
คาเฟอีน ส่งผลกับการได้ยิน อย่างไร? เสียงดังในหู หูอื้อ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยใดที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เป็นอันตรายระหว่างการบริโภคคาเฟอีนกับการสูญเสียการได้ยิน และการบริโภคคาเฟอีนไม่ได้มีบทบาทสำคัญในสุขภาพการได้ยิน
การบริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่พอเหมาะ จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการได้ยินของคุณในระยะยาว คาเฟอีนมีผลกับหลอดเลือดและทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง และการไหลเวียนของเลือดเป็นส่วนสำคัญของการได้ยินที่ดี
นักวิจัยจึงสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่ มีการศึกษาเชิงสังเกตในชาวเกาหลีกลุ่มใหญ่ไม่พบความเชื่อมโยง และในความเป็นจริงพบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟมีอัตราการสูญเสียการได้ยินต่ำกว่าผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ
– สำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว (Temporary Thresholds Shift ; TTS) จากการสัมผัสเสียงดังเป็นระยะเวลานาน เมื่อพักหูจากเสียงดังแล้วการได้ยินจะฟื้นกลับคืนมาภายในสองสามวัน หากช้ากว่านี้ แนะนำให้งดเว้นการดื่มคาเฟอีนจนกว่าการได้ยินจะกลับมาปกติ มีการศึกษาในปีพ.ศ.2559 พบว่า การบริโภคคาเฟอีนทุกวันอาจยืดเวลาการฟื้นตัวจากอาการสูญเสียการได้ยินชั่วคราว อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้เป็นการศึกษาในหนูตะเภากลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่มีผลกระทบเช่นเดียวกับในคนก็เป็นได้
– สำหรับผู้ป่วยหูอื้อหรือเสียงดังในหู จากรายงานวิจัยระบุว่าไม่จำเป็นต้องงดคาเฟอีน แม้ว่ามีผู้ป่วยบางรายรายงานว่าอาการดีขึ้นเมื่อพวกเขางดคาเฟอีน อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยใดพบว่าการงดคาเฟอีนช่วยบรรเทาอาการหูอื้อหรือเสียงดังในหูลงได้ และมีงานวิจัยในปีพ.ศ.2557 ¹ ศึกษาในกลุ่มผู้หญิง พบว่า มีอัตราการเกิดหูอื้อหรือเสียงดังในหูต่ำในผู้บริโภคคาเฟอีนปริมาณมาก
ซึ่งคล้ายกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้² ที่ระบุว่า “การเลิกคาเฟอีน” เป็นการรักษาที่ไม่ได้ผลสำหรับหูอื้อ และที่จริงแล้ว การถอนคาเฟอีนอาจเป็นเรื่องน่าวิตก
– สำหรับผู้ป่วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) บางครั้งได้รับคำสั่งให้ลดแอลกอฮอล์ เกลือ และคาเฟอีนเพื่อช่วยบรรเทาอาการ โดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงอาหารอาจเป็นประโยชน์สำหรับบางคน โดยเฉพาะอาหารที่มีเกลือต่ำ
ในทางทฤษฎีกล่าวไว้ว่า “การบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์อาจทำให้หลอดเลือดตีบ (Vasoconstriction) และอาจส่งผลให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในลดลง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลง” แพทย์หลายคนจึงแนะนำให้เปลี่ยนอาหารเป็นการรักษาทางเลือกแรก เนื่องจากคิดว่าเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างง่ายและราคาไม่แพง ทั้งนี้ ผู้ป่วยได้รับการแนะนำเช่นนี้อย่างกว้างขวางโดยไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
และเมื่อไม่นานมานี้ CNN ได้เปิดเผยการศึกษาจาก Biobank ในปีพ.ศ.2564³ พบว่า การดื่มกาแฟเป็นประจำ 0.5 – 3 แก้วต่อวัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
หมายเหตุ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้ยาซิสพลาติน (Cisplatin) ยาที่มีพิษต่อหู ควรระมัดระวังการใช้ยาร่วมกับปริมาณคาเฟอีน มีการศึกษาในหนูทดลอง ปีพ.ศ.2562 พบว่า การเพิ่มคาเฟอีนเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน
ความสัมพันธ์ระหว่างคาเฟอีนกับสุขภาพการได้ยิน จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีการศึกษามากพอ ที่จะทราบว่าคาเฟอีนมีผลกระทบต่อการสูญเสียการได้ยิน หูอื้อหรือเสียงดังในหู และโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
การบริโภคอาหารใดๆ ก็ตาม ควรบริโภคแต่พอดี และคำนึงถึงปริมาณสารอาหารที่จะได้รับในแต่ละวัน ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
source : Caffeine hearing loss ringing in ears. healthyhearing.com, Caffeine. www.nestle.co.th, กรมอนามัย, สำนักโภชนาการ. www.nutrition2.anamai.moph.go.th, การดื่มกาแฟกับโรคมะเร็ง. goodhopenutrition.com, www.amjmed.com