OAE หรือ Otoacoustic Emission คือ การตรวจคัดกรองการได้ยินสำหรับทารกแรกเกิด (Newborn Hearing Screening) โดยการปล่อยเสียงกระตุ้น วัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนภายในหูชั้นใน ใช้เวลาตรวจประมาณ 10 วินาที – 2 นาที ขณะทารกนอนนิ่งๆ หรือนอนหลับ ภายในห้องเงียบ เครื่องจะแสดงผลการตรวจอัตโนมัติ ทราบผลได้ทันที และมีความแม่นยำสูง โดยส่วนใหญ่จะตรวจหลังจากทารกมีอายุ 2 วันขึ้นไปก่อนกลับบ้าน
รายงานจากองค์กรอนามัยโลกในปี พ.ศ.2555 พบว่าประชากรโลก 360 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของประชากรทั้งหมดที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยเด็กที่สูญเสียการได้ยินแบบถาวร มีจำนวน 1 – 3 รายต่อทารกปกติ 1,000 ราย และ 2 – 4 รายต่อทารกที่รักษาตัวในหน่วยอภิบาลทารกแรกเกิด (NICU) ทั้งนี้ประเทศไทยมีการตรวจพบทารกที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 1.7 – 4 ต่อทารก 1,000 ราย
ดังนั้น การตรวจ OAE ในทารกจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อตรวจหาความผิดปกติของการได้ยินที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กในอนาคตได้
OAE ผลตรวจจะแสดงอยู่ 2 ค่า คือ
- PASS หมายถึง ทารกมีการได้ยินปกติ การทำงานของหูชั้นกลาง และประสาทรับเสียงภายในหูชั้นในปกติ
- REFER หมายถึง ส่งตรวจซ้ำ อาจเกิดจากภาวะที่ทารกมีสิ่งอุดกั้นในช่องหู เช่น ไข น้ำคร่ำ ขี้หู ทำให้ไปขัดขวางการตรวจวัดเสียงสะท้อนจากหูชั้นใน หรือการทำงานของหูชั้นกลางและหูชั้นในมีความผิดปกติ จำเป็นต้องส่งตรวจ OAE ซ้ำ อีก 2 ครั้ง หากผลยัง REFER จะต้องทำการตรวจด้วยวิธีอื่น เช่น การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (ABR; Auditory Brainstem Response) เพื่อการวินิจฉัยต่อไป (กรณีทารกตรวจคัดกรองไม่ผ่านควรได้รับการยืนยันว่าสูญเสียการได้ยิน ภายในอายุ 3 เดือน และควรได้รับการฟื้นฟูการได้ยินก่อนอายุ 6 เดือน)
ขั้นตอนการตรวจ OAE ในทารกแรกเกิด; โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่
กรณีผลตรวจ PASS ผู้ปกครองต้องคอยหมั่นสังเกตพัฒนาการทางการฟังและการพูดของเด็กในช่วงอายุต่างๆ ร่วมด้วย เนื่องจากอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายหลังได้ (อ่านข้อมูลทารกกลุ่มเสี่ยงและพัฒนาการตามช่วงอายุ)
สาเหตุการเกิดความผิดปกติภายหลัง ได้แก่ การติดเชื้อหัด คางทูม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การได้รับยาที่มีพิษต่อหู การฟังเสียงดังมากเกินไป การอักเสบของหูชั้นกลาง ประสาทหูเสื่อมจากกรรมพันธุ์ที่มีอาการภายหลัง เป็นต้น
“งานวิจัยพบว่า เด็กที่ตรวจพบความผิดปกติการได้ยินและได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่ก่อนอายุ 6 เดือน เด็กจะมีพัฒนาการทางด้านภาษาดีกว่าเด็กที่ตรวจพบช้ากว่าอายุ 6 เดือน”
ปรึกษาทุกปัญหาการได้ยินและตรวจการได้ยิน ได้ที่
ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053-271533, 089-0537111
เฟซบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
ไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
โรงพยาบาลสินแพทย์
จุฬาลงกรณ์เวชสาร 2561 ม.ค. – ก.พ.;62(1): 53 – 65;เชิญขวัญ ฐิติรุ่งเรือง, ภาณินี จารุศรีพันธุ์, เสาวรส ภทรภักดิ์. การคัดกรองการสูญเสีย
การได้ยินในเด็ก.
วิดีโอคลิปการตรวจ OAE โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่