โรคประจำตัว ภัยร้ายเสี่ยงต่อการได้ยินลดลง

โรคประจำตัวเสี่ยงต่อการได้ยิน

      ปัจจุบันคนไทยมีสถิติการป่วยทั้งแบบเรื้อรังและไม่เรื้อรังเพิ่มมากขึ้น โดยสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยนั้นเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานของทอด ของมัน ของหวาน หรือรสจัดเกินไป การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงความเครียดสะสมจากการทำงาน และพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา จนเกิดเป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว ซึ่งปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ป่วยและมีโรคประจำตัว

 

โรคประจำตัว คือ โรคที่ติดตัวผู้ป่วย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในทางการแพทย์หมายถึง โรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาและอยู่ในความดูแลและควบคุมของแพทย์อย่างต่อเนื่อง

 

      โรคประจำตัวที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการได้ยิน ทำให้การได้ยินมีโอกาสลดลงได้นั้น คือ โรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบไหลเวียนโลหิต ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต

จากการวิจัยพบว่า โรคเบาหวานส่งผลกระทบต่อการสูญเสียการได้ยินมากกว่าการเปลี่ยนแปลงตามวัย การได้รับเสียงดังเกินไป และปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย (LermanGarber, et al., 2012)

   โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคที่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ ถ้าหากไม่มีการควบคุมในเรื่องของการรับประทานอาหาร และดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกวิธี ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายแข็งและหนาตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะลดลง และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคตา โรคของระบบประสาท รวมถึงโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย

 

        ทั้งนี้เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาในระดับหลอดเลือดขนาดเล็ก และประสาทรับความรู้สึก ทำให้มีผลต่อจอประสาทตา ไต และปลายประสาท รวมทั้งหลอดเลือดฝอยและเซลล์ประสาทรับความรู้สึกของหูชั้นใน

 

       ดังนั้น ผู้มีโรคประจำตัวดังกล่าว ควรควบคุมโรคให้ดี เพราะโรคเหล่านี้จะทำให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหูน้อยลง และทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากขึ้นหรือเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

 

 

ปรึกษาปัญหาการได้ยิน ได้ที่

ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053-271533, 089-0537111
คุยเฟสบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
คุยไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai