โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ เป็นเหตุให้รู้สึกเสียการทรงตัว (เกิดอาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน) และการได้ยิน (เกิดอาการหูตึง แว่วเสียงดังในหู) ส่วนใหญ่มักเป็นกับหูเพียงข้างเดียว
อาการของ โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
อาการหลักของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน คือ อาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่าอาการบ้านหมุน แต่ละครั้งมักเป็นอยู่นานเกิน 20 นาทีขึ้นไป ถึง 2 ชั่วโมง แล้วหายไปได้เอง และอาการจะกำเริบได้อีกเป็นครั้งคราว เป็นๆ หายๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการทุกวัน หรือนานๆ เป็นที โดยอาจทิ้งช่วงห่างกันเป็นสัปดาห์ ๆ หรือนานเป็นปี ซึ่งไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก และอาจมีอาการตากระตุกร่วมกับอาการบ้านหมุนด้วย
- ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง มักพบในช่วงระยะแรกของโรค มักเป็นชั่วคราวโดยที่การได้ยินจะลดลงในช่วงเกิดอาการเวียนศีรษะ เมื่อร่างกายกลับสู่ภาวะปกติการได้ยินจะดีขึ้น แต่หากปล่อยให้โรคดำเนินไปมากขึ้น การได้ยินอาจเสื่อมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหูตึงหรือหูหนวกได้ในที่สุด
- หูอื้อ แว่วเสียงดังในหู ซึ่งจะเกิดขึ้นในหูข้างที่ผิดปกติ มักเป็นพร้อมกับอาการบ้านหมุน อาจเป็นเฉพาะเวลาที่เวียนศีรษะหรืออาจเป็นอยู่ตลอดเวลาก็ได้
- รู้สึกแน่นในหู ลักษณะหนักๆ หน่วงๆ คล้ายกับมีแรงดันในหู (ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหู และปวดศีรษะข้างที่เป็นร่วมด้วยได้)
การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเมื่อเกิดอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน
- รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่และถูกต้องตามหลักอนามัย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด ควบคุมปริมาณเกลือไม่ให้มากเกินไป
- หลีกเลี่ยงกาแฟ ช็อกโกแลต และอาหารที่มีคาเฟอีน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยอ่อนมากๆ เช่น ทำงานติดต่อกันนานเกินไป หรือออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด
- ในรายที่เกิดอาการเวียนศีรษะทันทีโดยไม่มีอาการเตือน ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือเสี่ยงอันตราย เช่น การขับขี่ยานพาหนะ การปีนป่ายที่สูง เป็นต้น
เราพร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติม เพื่อสุขภาพการได้ยินที่ดีของทุกคน
ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053-271533, 089-0537111
Facebook: m.me/hearingchiangmai
Line: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และ เมดไทย