จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย
ฉบับที่ 21/2564 ประจำสัปดาห์ที่ 22 (วันที่ 30 พ.ค. – 5 มิ.ย. 64)
รายงานพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 171 ราย
เสียชีวิต 11 ราย
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคือ อายุ 55 – 64 ปี และอายุ 45 – 54 ปี ตามลำดับ อาชีพที่พบผู้ป่วยส่วนใหญ่ คือ รับจ้าง รองลงมาคือ เกษตรกร ภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ ภาคเหนือ รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ นครราชสีมา และสุโขทัย ตามลำดับ
พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการป่วยด้วยโรคไข้หูดับ โรคไข้หูดับเกิดจาก เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis)
โรคไข้หูดับ สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ
1. การบริโภคเนื้อหมู และเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ
2. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค ติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตา
อาการหลังได้รับเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส หรือไข้หูดับ ในไม่กี่ชั่วโมง จนถึง 5 วัน
- มีไข้สูง
- ปวดศีรษะรุนแรง
- เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้
- อาเจียน
- ถ่ายเหลว
- คอแข็ง
- สูญเสียการได้ยินถึงขั้นหูหนวกถาวร
- ข้ออักเสบ
- เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อรุนแรง
- ติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงที่เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
กรมควบคุมโรค แนะนำวิธีป้องกันโรคไข้หูดับ ดังนี้
- ควรรับประทานหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น และเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาวหรือสีคล้ำ ล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัส หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง ขอให้ทำให้สุกก่อนเสมอ และแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบ
- ผู้ที่สัมผัสกับหมู โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมใส่เสื้อและกางเกงที่ปกปิดมิดชิด ใส่รองเท้าและ ถุงมือทุกครั้งเมื่อเข้าไปทำงานในคอกสุกร หลีกเลี่ยงการจับซากสุกรที่ตายด้วยมือเปล่า ล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และผู้จำหน่าย ควรจำหน่ายเนื้อหมูที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ทำความสะอาดแผงด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อทุกวันหลังเลิกขาย และเก็บเนื้อหมูที่จะขายในอุณหภูมิที่ตํ่ากว่า 10°C
ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือรับประทานอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมูไม่สุก ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการรับประทานหมูดิบให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้
ข้อมูล : สายด่วนกรมควบคุมโรค สอบถามเพิ่มเติมได้ โทร. 1422
เราพร้อมให้คำปรึกษาปัญหาการได้ยิน หูหนวก หูดับ
ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053-271533, 089-0537111
เฟซบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
ไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai