การช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่ใส่เครื่องช่วยฟังเป็นครั้งแรก ให้ได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟังอย่างที่ควรจะได้รับ
10 เทคนิค การเริ่มต้นใส่เครื่องช่วยฟัง ดังนี้
1. ให้เวลาตัวเอง
ผู้มีประสบการณ์หลายท่านได้เปรียบเทียบการเริ่มใส่เครื่องช่วยฟัง ไม่เหมือนกับการเริ่มใส่แว่นสายตา ซึ่งการใส่แว่นสายตาคุณจะรู้สึกได้เลย ว่าภาพที่คุณมองเห็นนั้นคมชัดมากขึ้น
แต่ในกรณีของเครื่องช่วยฟัง คุณอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัว อย่าคาดหวังให้สมองของคุณจะช่วยคุณให้ได้ยินชัดเจนและแยกแยะเสียงได้ดีเหมือนอย่างเคยในทันทีทันใด ให้เวลาตัวคุณคุ้นเคยกับการใส่เครื่องช่วยฟังในช่วง 2 – 3 วันแรกหรือสัปดาห์แรก ก่อนที่คุณจะรู้สึกสบายขึ้น
เมื่อใส่เครื่องช่วยฟังวันแรก ให้คุณเริ่มต้นโดยการนั่งในบริเวณที่เงียบๆ ของบ้านก่อน ในสภาพแวดล้อมที่เงียบนี้ คุณจะมีโอกาสเริ่มทำความคุ้นเคยกับเสียงใหม่ๆ และอาจพบว่าเสียงบางเสียงดังเกินไปในครั้งแรก เช่น เสียงเครื่องปรับอากาศทำงาน เสียงนาฬิกาเดิน เสียงเตือนของเครื่องไมโครเวฟ หรือเสียงกดชักโครก นั่นเป็นเพราะว่าคุณไม่ได้ยินมานานมากแล้ว หรืออาจไม่เคยได้ยินมาก่อน การได้ยินเสียงเหล่านี้ดังถือว่าปกติ เนื่องจากสมองของคุณกำลังกลับมาเรียนรู้ และทำความคุ้นเคยกับเสียง
2. เริ่มใส่เครื่องช่วยฟังระยะเวลาสั้นๆ ก่อน
การฝึกให้สมองของคุณเกิดทักษะในการฟังกลับมา จำเป็นต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน “เมื่อคุณใส่เครื่องช่วยฟังครั้งแรกให้เริ่มใส่ วันละ 2 – 3 ชั่วโมงก่อน และถอดออกเมื่อคุณรู้สึกเหนื่อยหรือถูกรบกวนจากเสียงมากเกินไป” ให้คุณพยายามเพิ่มชั่วโมงในการใส่ให้ได้นานขึ้น และควรใส่ทุกวัน เมื่อคุณสามารถใส่ได้นานขึ้น คุณจะสามารถแยกแยะเสียงต่างๆ แปลความหมายของเสียงพูด และโฟกัสกับสิ่งที่คุณได้ยินมากขึ้นตามไปด้วย
3. อ่านดังๆ
ก่อนที่คุณจะใส่เครื่องช่วยฟัง คุณอาจได้ยินคู่สนทนาบอกกับคุณว่า “คุณพูดเสียงดังเกินไป” ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องปกติของ “ผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน”
และเมื่อคุณใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว คุณเองก็จะสามารถควบคุมระดับความดังของเสียงคำพูดของคุณได้ ซึ่งเทคนิคการควบคุมระดับความดังของเสียงง่ายๆ ก็คือ “การอ่านหนังสือหรือนิตยสาร แบบออกเสียง” การที่คุณได้ยินเสียงอ่านหนังสือของคุณเอง นอกจากจะช่วยให้คุณควบคุมระดับความดังของเสียงของคุณได้แล้ว ยังจะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะการฟังเสียงพูด สร้างความคุ้นเคยเมื่อคุณได้สนทนากับผู้อื่นอีกด้วย
4. พยายามอ่านและฟังควบคู่กันไปเสมอ
ทุกครั้งที่คุณชมภาพยนตร์จากโทรทัศน์ที่มีคำบรรยายใต้ภาพ “ให้คุณอ่านคำบรรยายใต้ภาพโดยไม่ต้องออกเสียงตามไปด้วยขณะที่คุณฟังภาพยนตร์” เทคนิคนี้จะช่วยให้สมองของคุณกลับมาคุ้นเคยกับเสียงพูดและเสียงต่างๆ เสียงพูด ที่คุณได้ยินจากภาพยนตร์ การฝึกฝนเช่นนี้ จะช่วยให้คุณปรับตัวเข้ากับเครื่องช่วยฟังได้รวดเร็วขึ้น
5. พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น
สมาชิกในครอบครัวและคนที่คุณรัก มีส่วนช่วยคุณอย่างมากในการปรับตัว เมื่อคุณเริ่มใส่เครื่องช่วยฟัง คุณจะรู้สึกสบายใจเมื่อได้คุยกับคนที่คุ้นเคย เสียงที่คุณคุ้นเคย
เทคนิคนี้จะช่วยให้สมองของคุณกลับมาเรียนรู้การเชื่อมโยงระหว่างเสียงพูดกับภาษากาย เช่น การใช้สายตา การเคลื่อนไหวของมือ รอยยิ้ม โทนเสียงและท่วงท่า คุณจะสามารถใช้ประสบการณ์เหล่านี้ในการสนทนากับคนอื่นๆ ที่คุณพบเจอได้
6. จดบันทึกสถานการณ์ที่คุณมีปัญหาการฟัง
จดบันทึกสถานการณ์ และเสียงที่ทำให้คุณรู้สึกรำคาญ หรือสถานการณ์ที่คุณยังคงฟังการสนทนาได้ไม่ชัดเจน และนำมาเล่าให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยฟังในวันนัดติดตามผลการใช้เครื่องช่วยฟังของคุณ เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับเสียงเครื่องช่วยฟังให้กับคุณ
7. เข้าใจข้อจำกัดของเครื่องช่วยฟัง
เสียงพูดที่ได้ยินผ่านโทรศัพท์ แม้แต่โทรศัพท์ที่ดีที่สุด ก็แตกต่างจากเสียงพูดปกติ เสียงที่คุณได้ยินจากเครื่องช่วยฟังก็เช่นเดียวกัน แน่นอนว่าเสียงที่คุณได้ยินผ่านเครื่องช่วยฟังเป็นเสียงที่แตกต่างไปจากเสียงที่คุณเคยได้ยินมาก่อนที่คุณจะมีความบกพร่องทางการได้ยิน
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีในปัจจุบันก็ยังมีส่วนช่วยทำให้คุณได้ยินเสียงต่างๆ และสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ ถึงแม้เสียงที่ได้ยินจะไม่เหมือนเดิมก็ตาม
8. อย่าปรับความดังขึ้นลงบ่อยๆ
เทคโนโลยีของเครื่องช่วยฟังพัฒนาไปมากในปัจจุบัน เครื่องช่วยฟังคุณภาพสูง มีชิปคอมพิวเตอร์ที่ชาญฉลาด ทำหน้าที่ปรับระดับการขยายเสียง หรือลดเสียงให้คุณตามสภาพแวดล้อมอย่างอัตโนมัติ เมื่อใส่เครื่องช่วยฟังครั้งแรก คุณมีแนวโน้มที่จะปรับระดับเสียงลดลงเมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์อึกทึก หรือปรับลดเสียงลงเมื่อคุณกำลังเดินเข้าห้องสมุดหรือคุณอาจจะอยากทดลองเร่งความดังเพื่อฟังเสียงที่อยู่ไกลๆ ซึ่งแม้แต่คนที่มีการได้ยินปกติก็ไม่สามารถได้ยิน การปรับเสียงขึ้นลงบ่อยๆ เช่นนี้ อาจทำให้ระบบอัตโนมัติของเครื่องรวนได้
9. มีความคาดหวังที่เหมาะสม
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลสำเร็จของการใส่เครื่องช่วยฟังที่คุณควรตระหนัก และไม่ควรเปรียบเทียบตัวคุณกับผู้อื่นนั้น มีอยู่หลายปัจจัย เช่น การเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะสมกับระดับความบกพร่องของการได้ยิน เทคโนโลยีของเครื่องช่วยฟัง คุณภาพของเครื่องช่วยฟัง การฝึกฝนการฟังขณะใส่เครื่องช่วยฟัง ไลฟ์สไตล์ สภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตประจำวัน ระยะเวลาหรืออายุที่เริ่มสูญเสียการได้ยินจนถึงเวลาที่คุณใส่เครื่องช่วยฟัง สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน โรคประจำตัว รูปแบบการสูญเสียการได้ยิน และการยืดหยุ่นของการทำงานของสมอง เป็นต้น
10. หาผู้เชี่ยวชาญเครื่องช่วยฟังที่คุณไว้ใจ
การปรับเสียงให้กับเครื่องช่วยฟังของคุณเป็นกระบวนการระยะยาวและต่อเนื่อง การเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยฟังที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญที่คุณมั่นใจว่าจะสนับสนุน ช่วยเหลือ เข้าใจ และร่วมกันแก้ปัญหาที่คุณพบ เคียงข้างคุณในแต่ละขั้นตอนของการปรับตัว พร้อมปรับเสียงเครื่องช่วยฟังของคุณ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ท้าทายเมื่อคุณมีประสบการณ์การฟังที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากการใส่เครื่องช่วยฟัง และมีความสุขกับการได้ยินมากเท่าที่คุณต้องการ
ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่ เราพร้อมให้คำปรึกษาด้านเครื่องช่วยฟัง
โทร: 053-271533, 089-0537111
Facebook: m.me/hearingchiangmai
Line: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai