คุณเคยสงสัยไหม…ออกกำลังกาย
ชะลอการเสื่อมลงของการสูญเสียการได้ยิน ได้อย่างไร?
เมื่อคุณออกกำลังกาย ร่างกายจะผลิตสารเอ็นโดรฟินหรือสารแห่งความสุข ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณในหลายด้าน ช่วยให้คุณรู้สึกดี มีความสุข คลายเครียด บรรเทาอาการเจ็บปวดอาการซึมเศร้า การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องมีความสำคัญสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
จากงานศึกษาวิจัยพบว่า การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ (Cardiovascular disease) และภาวะโรคอ้วน (Obesity) แต่ยังสามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียการได้ยิน หรือชะลอการเสื่อมลงของการสูญเสียการได้ยินที่กำลังเป็นอยู่ได้
หากคุณไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและระดับความดันโลหิตให้ดี การสูญเสียการได้ยินของคุณก็จะเพิ่มมากขึ้น
การออกกำลังกายจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการทางเคมีช่วยเผาผลาญพลังงานภายในร่างกาย ลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดอุดตันขัดขวางระบบไหลเวียนโลหิตที่นำส่งเลือดไปเลี้ยงยังหูชั้นใน
ผู้มีปัญหาการได้ยิน และผู้ใส่เครื่องช่วยฟัง
ควรออกกำลังกาย อย่างไร?
จากประโยชน์ของการออกกำลังกายที่กล่าวมา ผู้มีปัญหาการได้ยิน และผู้ใส่เครื่องช่วยฟัง ควรหากิจกรรมในการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อให้คุณสามารถทำได้เป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจากกิจกรรมบางกิจกรรมอาจจะทำให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน รู้สึกไม่สะดวกใจ หรือมีความกังวลที่จะทำ
การปรับกิจกรรมการออกกำลังกายให้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน และผู้ที่ใส่เครื่องช่วยฟัง ด้วย 4 เทคนิคการออกกำลังกายต่อไปนี้ จะทำให้คุณมีร่างกายที่แข็งแรงและปลอดภัยจากโรค ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียการได้ยิน หรือชะลอการเสื่อมลงของการสูญเสียการได้ยินที่กำลังเป็นอยู่ได้
4 เทคนิค การออกกำลังกาย
สำหรับ ผู้มีปัญหาการได้ยิน และผู้ใส่เครื่องช่วยฟัง
1. เลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณ
ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน มักมีความยากลำบากในการฟังคำแนะนำของเทรนเนอร์เมื่อคุณต้องเข้าคลาสออกกำลังกายที่ฟิตเนสร่วมกับคนหมู่มาก เช่น แอโรบิก ซุมบ้า
คุณอาจลองเปลี่ยนกิจกรรม เช่น เดินวิ่งบนลู่วิ่ง กิจกรรมกลุ่มขนาดเล็ก 3 – 5 คน เช่น โยคะ หรือมีเทรนเนอร์ส่วนตัว
หากคุณออกกำลังกายที่บ้านของคุณเอง คุณสามารถรับชมคลิป VDO หรือ Live สด คลาสสอนการออกกำลังกายที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตอย่าง Youtube รับชมแบบสตรีมสอนสดที่มีคำบรรยายใต้ภาพ เพื่อให้คุณติดตามคำแนะนำของเทรนเนอร์ไปด้วยในขณะที่ฟังเพลงผ่านการสตรีมมิ่งมายังเครื่องช่วยฟัง ให้คุณรู้สึกสนุกและเพลิดเพลินกับการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น มีแรงจูงใจในการออกกำลังกายคล้ายกับการไปฟิตเนส
2. ส่งเสริมการเกิดสมดุลของร่างกาย
ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินและมีการสูญเสียความสมดุลของร่างกายร่วมด้วย เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease) ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามคุณจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้เสียการทรงตัวจนหกล้ม ปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลเรื่องโรคน้ำในหูไม่เท่ากันและอาการของคุณ เพื่อให้แนะนำรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณ
การมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle) ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายน้อยมากในแต่ละวัน หรือมีกิจกรรมทางกายน้อยลงจนกลายเป็นเนือยนิ่ง จนไม่ได้ใช้งานร่างกาย เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ รวมถึงกระทบต่อการทรงตัวรักษาสมดุลของร่างกาย ดังนั้นหากคุณค่อยๆ ฝึกกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาการรักษาสมดุลของร่างกายมากเท่าไหร่ คุณจะเพิ่มความสามารถในการรักษาสมดุลของร่างกายคุณได้ดีมากขึ้น
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease, NCDs)
คือ โรคที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ มีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม และขาดการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน นำไปสู่กลุ่มโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง โรคเรื้อรัง จะค่อยๆ มีอาการและอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่ได้รับการรักษา
3. เปลี่ยน เพื่อความปลอดภัย
เมื่อคุณมีปัญหาการได้ยิน และพบว่าปัญหาการได้ยินเพิ่มขึ้น เป็นความจำเป็นที่คุณต้องตระหนักถึงข้อจำกัดของคุณและหาแนวทางใหม่ๆ ในการออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี คุณอาจจำเป็นต้องเลิกว่ายน้ำที่เป็นกีฬาโปรดของคุณ เนื่องจากคุณไม่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังในขณะว่ายน้ำได้ หรือคุณอาจจะเปลี่ยนการออกกำลังกายของคุณเป็นการเดินเร็ว หรือเดินบนลู่วิ่งแทน
4. ให้เครื่องช่วยฟังช่วยเหลือคุณ
การใส่เครื่องช่วยฟังขณะที่คุณออกกำลังกายมีประโยชน์หลายอย่าง คุณสามารถได้ยินเสียงต่างๆ รวมถึงเสียงที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณ การใส่เครื่องช่วยฟังทำให้คุณสัมผัสได้ถึงจังหวะของการเคลื่อนไหวในขณะที่คุณออกกำลังกายได้ดีขึ้น
หากคุณกังวลว่าเครื่องช่วยฟังคุณจะหลุดหายหรือหล่นหาย ลองใช้สายรัดศีรษะหรือผ้าคาดศีรษะ เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องช่วยฟังของคุณจะยึดอยู่กับใบหูของคุณในขณะที่คุณออกกำลังกาย และช่วยป้องกันเหงื่อไหลเข้าสู่เครื่องช่วยฟัง