1. ใส่เครื่องช่วยฟัง เป็นประจำ สม่ำเสมอ
เครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์ช่วยการได้ยินสำหรับผู้สูงอายุประสาทหูเสื่อม บกพร่องทางการได้ยิน ให้กลับมาได้ยิน และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างอิสระ ให้ความรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้ยินเสียง ช่วยชะลอความเสื่อมของประสาทหู ให้คุณมีเวลาชื่นชมความงามของธรรมชาติ ฟังเสียงนก เสียงลม เสียงน้ำไหล เสียงธรรมชาติจะช่วยให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย มีความสุขง่ายๆ กับสิ่งรอบตัว
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก
การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย เป็นอีกหนึ่งวิธีของการมีสุขภาพที่แข็งแรง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงประสาทหู และอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ต้องรู้จักโรคประจำตัวของตัวเองให้ดี อาหารชนิดใดรับประทานได้ และอาหารชนิดใดแพทย์สั่งงดเว้น เพื่อไม่ให้กระตุ้นอาการของโรค
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน ลดการทำงานหนักของอวัยวะภายใน เช่น รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย ลดการปรุงแต่งรสชาติ ลดหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีสารคาเฟอีน งดสูบบุหรี่ เพราะทำให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหูน้อยลง ทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากหรือเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
3. ออกกำลังกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
บริหารกล้ามเนื้อ ขยับนิ้วมื้อ แขน ขา ให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว เมื่อออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง และคุณจะรู้สึกอารมณ์ดีขึ้นทันที
ผู้สูงอายุออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 30 นาที อาจแบ่งเป็นช่วงสั้นๆ 10 – 15 นาที เช่น การเดิน การยืดเส้น ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินทำให้รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับง่ายขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนโลหิต ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหู และเมื่อคุณออกกำลังกาย เท่ากับสมองของคุณก็ได้ออกกำลังกายด้วยเช่นกัน
รู้หรือไม่ การออกกำลังกายที่มากเกินไป ร่างกายจะหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) กระตุ้นให้นอนไม่หลับได้
4. ทำกิจกรรม งานอดิเรกที่ชื่นชอบ ลดเครียด คลายกังวล
หากิจกรรม หรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบทำ เช่น ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ พืชผักสวนครัว อ่านหนังสือ ฟังเพลง กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวลลง มีสมาธิจดจ่อกับการทำกิจกรรม หรือพาตัวเองไปพบปะเพื่อนฝูง เข้าสังคม ทำกิจกรรมร่วมกัน
5. ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี
อายุที่เพิ่มมากขึ้น มาพร้อมโรคประจำตัว ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวควรควบคุมโรคให้ดี โดยเฉพาะโรคดังต่อไปนี้
โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคเลือด โรคซีด ต้องควบคุมโรคให้ดีเพราะโรคเหล่านี้ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหูน้อยลง ทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมากหรือเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อของหูหรือระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีผลทำให้การได้ยินลดลงได้