อันตรายของเสียง ที่ควรรู้
ก่อน การได้ยินของคุณ จะเสื่อมถอย
มนุษย์เราได้ยินเสียงต่างๆ เกิดจากคลื่นเสียงเดินทางผ่านอากาศกระทบกับเยื่อแก้วหูเกิดการสั่นสะเทือนของกระดูก 3 ชิ้นที่อยู่ในหูชั้นกลาง ส่งคลื่นเสียงไปยังหูชั้นใน เมื่อมีเสียงดังมากเกินไปผ่านเข้ามายังหู ร่างกายจะมีกลไกป้องกันเสียงดังนั้นโดยการหดตัวอัตโนมัติของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยลดระดับเสียงที่จะผ่านเข้าไปยังหูชั้นในได้ประมาณ 30 – 40 dB
หูชั้นในจะมีอวัยวะรูปก้นหอย ที่เรียกว่า คอเคลีย (Cochlea) ที่บรรจุของเหลวและเซลล์ขน (Hair Cell) ทำหน้าที่รับความรู้สึกสั่นสะเทือนแปลงเป็นคลื่นประสาทส่งไปยังสมอง เพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน เซลล์ขนจะมีความยาวไม่เท่ากันและมีความจำเพาะต่อความถี่ใดความถี่หนึ่ง
กรณี เสียงดังมากเกินกว่าการป้องกันโดยธรรมชาติของร่างกาย หรือดังเกินกว่า 85 dB เมื่อคลื่นเสียงเดินทางมาถึงเซลล์ขนจะทำให้มีการสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานติดต่อกัน เซลล์ขนจะไม่สามารถปรับคืนสภาพสู่ปกติ และหลุดร่วงไป เกิดการขาดช่วงการเดินทางของเสียงที่ส่งไปยังสมอง จึงทำให้สูญเสียการได้ยินในช่วงความถี่เสียงนั้น
เมื่อ เซลล์ขน ถูกทำลาย
การสูญเสียการได้ยิน หรือ หูตึง จึงเกิดขึ้น
การสูญเสียการได้ยิน มี 2 ลักษณะ ดังนี้
1. Acoustic trauma คือ การสูญเสียการได้ยินอย่างฉับพลันเมื่อได้ยินเสียงดังมาก เช่น เสียงปืน เสียงระเบิด
2. Noise-induced hearing loss คือ การสูญเสียการได้ยินแบบค่อยเป็นค่อยไป สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ทำงานอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเป็นเวลานานๆ เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสากรรม สิ่งทอ เครื่องเรือน ถลุงเหล็ก เครื่องแก้ว โรงเรื่อย เสียงเครื่องจักรหรือยวดยานพาหนะต่างๆ ตำรวจจารจร นักจัดรายการดนตรี ทหารและตำรวจที่ต้องฝึกซ้อมการยิงปืนเป็นประจำ
งานวิจัยพบว่า ผู้ที่ทำงานสัมผัสกับเสียงดังกว่า 85 dBA นาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกันนานเกิน 5 ปี มีโอกาสที่จะทำให้สมรรถภาพการได้ยินเสื่อมถอยลง
องค์การอนามัยโลก กำหนดว่า ระดับเสียงที่ดังเกินกว่า 85 เดซิเบล(เอ) ที่ทุกความถี่ ถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และส่วนใหญ่พบว่า โรงงานอุตสาหกรรมมีระดับเสียงที่ดังเกิน มากกว่า 85 เดซิเบลเอ เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทางกาย และจิตใจ
อันตรายของเสียง ส่งผลกระทบอย่างไร?
นอกจากทำให้เกิด การสูญเสียการได้ยิน แล้ว เสียงยังสร้างผลกระทบในด้านอื่นๆ
ด้านสุขภาพ
เสียงดังที่เกินกว่าค่ามาตรฐาน หรือดังเกินกว่าที่กลไกของหูจะสามารถป้องกันได้ มันสามารถสร้างความเคร่งเครียด ตื่นเต้น ตกใจ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หงุดหงิด โมโห ฯลฯ ส่งผล
1. ทำให้การทำงานของระบบการไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท และระบบต่อมไร้ท่อ ทำงานผิดปกติ
2. ทำให้สมดุลร่างกายเปลี่ยนแปลง โดยทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าปกติ การเต้นของหัวใจผิดปกติ และการหดตัวของเส้นเลือดผิดปกติ
ด้านความปลอดภัยในการทำงาน
1. พฤติกรรมส่วนบุคคลเปลี่ยงแปลง เช่น เชื่องช้าต่อการตอบสนองต่อสัญญาณต่างๆ เกิดความว้าวุ่นใจ ทำให้การทำงานผิดพลาดจนเกิดอุบัติเหตุได้
2. รบกวนการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
ลักษณะของเสียงที่พบว่า มีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ได้แก่
• เสียงดังๆ หยุดๆ เป็นช่วง
• เสียงที่มีความถี่สูงกว่า 2,000 Hz
• เสียงที่ดังต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
3. รบกวนการนอนหลับ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เมื่อปฏิบัติงานอาจเกิดความผิดพลาดได้ง่าย
4. รบกวนการติดต่อสื่อสาร อาจเกิดความผิดพลาดในการทำงาน
หากคุณต้องทำงานสัมผัสกับเสียงดังเป็นระยะเวลานานๆ ควรป้องกันโดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง เช่น Eer Plugs หรือ Ear Muffs
นอกจากอันตรายของเสียงที่ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินแล้ว การสูญเสียการได้ยินยังเกิดขึ้นได้อีกหลายสาเหตุ ทั้งแบบชั่วคราว หรือแบบถาวร และสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน [อ่าน…สาเหตุการสูญเสียการได้ยิน ประเภทการสูญเสียการได้ยิน]