เมื่อการสื่อสารกับผู้อื่น…ต้องใช้พลังงานมาก
ผู้สูงอายุที่มีอาการหูไม่ได้ยิน อาจเริ่มถอนตัวจากกิจกรรมทางสังคมและลดการมีปฏิสัมพันธ์ลง เนื่องจากความเหนื่อยล้าจากการพยายามโฟกัสในการฟัง แปลความหมาย การโต้ตอบการสนทนา การทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น รวมถึงความรู้สึกน้อยใจที่ได้รับการปฏิบัติแตกต่างไปจากผู้อื่น การปลีกตัวนี้ เพิ่มความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากอุปสรรคในการสื่อสารโดยตรงแล้ว การสูญเสียการได้ยินยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพจิตของผู้ที่มีปัญหาการได้ยิน ความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า และวิตกกังวลเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นกับผู้ที่สูญเสียการได้ยิน เนื่องจากไม่สามารถเข้าร่วมการสนทนาและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับครอบครัวได้อย่างเต็มที่
เมื่อผู้สูงอายุที่บ้าน เริ่มประสบปัญหาการได้ยิน
ครอบครัว คือ กำลังใจสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุท่านมีแรงกายแรงใจในการดำเนินชีวิต ทำกิจวัตรประจำวันอย่างปกติสุข…
แม้ว่าการรักษาทางการแพทย์ด้วยเครื่องช่วยฟัง อาจไม่สามารถฟื้นฟูการได้ยินให้แก่ผู้สูงอายุที่หูไม่ได้ยิน ให้กลับมาได้ยินได้อย่างเต็มที่ แต่สามารถรักษาสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุท่านมั่นใจว่าท่านมีคุณค่า เป็นที่ต้องการของครอบครัว และคนรอบข้างเสมอ
ผู้สูงอายุที่บ้าน จัดอยู่กลุ่มใด?
จำแนกตาม ความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน ได้เป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ติดสังคม ซึ่งร้อยละ 96 เป็นผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี สุขภาพทั่วไปดี ไม่มีโรคเรื้อรัง ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างอิสระ สามารถช่วยเหลือผู้อื่น สังคม และชุมชนได้ และมักเข้าร่วมกิจกรรมในสังคม
กลุ่มที่ 2 ติดบ้าน มีร้อยละ 3 ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือต้องการความช่วยเหลือบางส่วน
กลุ่มที่ 3 ติดเตียง มีร้อยละ 1 กลุ่มนี้เป็นผู้สูงวัยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงต้องการสังคม “กิจกรรมผู้สูงอายุ” ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ไม่เพียงแต่ช่วยนันทนาการผู้สูงอายุให้มีความสุขเท่านั้น แต่เป็นการช่วยสานสัมพันธ์ผู้คนรอบข้าง เพื่อนฝูง และสมาชิกในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วย
กิจกรรมผู้สูงอายุ
เสริมสร้างคุณค่า ลดการเนือยนิ่ง ห่างไกลภาวะซึมเศร้า
สุขภาพกายพร้อม สุขภาพใจพร้อม การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยินหรือหูตึงด้วยการใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว สมาชิกในครอบครัวและผู้สูงอายุจะต้องเรียนรู้วิธีการปรับตัวร่วมกันด้วย เช่น การสนทนากับผู้สูงอายุให้ช้าๆ ชัดๆ หรือใช้ภาษาท่าทางประกอบ [อ่าน…การสื่อสารกับผู้ใส่เครื่องช่วยฟัง]
เมื่อผู้สูงอายุเริ่มมั่นใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง ท่านจะสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น กิจกรรมของผู้สูงอายุในแต่ละวันมีให้เลือกมากมายตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน สมาชิกในครอบครัวสามารถเลือกกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้สูงอายุท่านได้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี สร้างความผ่อนคลาย และลดความตึงเครียดให้แก่ผู้สูงอายุ กิจกรรมของผู้สูงอายุ มีดังนี้
กิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำเป็นกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองที่บ้าน หรือในยามว่าง
ได้แก่ งานบ้าน กวาดบ้านถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ กวาดใบไม้
กิจกรรมการเดินทาง
ได้แก่ การเดินทางไปจ่ายตลาดสด วัด ธนาคาร ทานข้าวนอกบ้าน ท่องเที่ยว ปั่นจักรยาน
การท่องเที่ยวไม่ใช่กิจกรรมสำหรับวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้ผู้สูงอายุได้เปิดหูเปิดตา พบเจออะไรใหม่ๆ มีความผ่อนคลาย ลดความเบื่อหน่าย อีกทั้งยังสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้ท่าน
กิจกรรมสันทนาการงานอดิเรก
กิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายความตึงเครียดทางร่างกาย ส่งเสริมสุขภาพจิตใจและสมอง เช่น การร้องเพลง เต้นรำ ถ่ายรูป ปลูกต้นไม้
กิจกรรมการออกกำลังกาย
เช่น เดินออกกำลังกาย ลีลาศ รำไทเก็ก เปตอง
กิจกรรมผู้สูงอายุติดบ้าน
ทำอาหาร ทำสวน ปลูกพืชผักสวนครัว
โดยปกติผู้สูงอายุติดบ้านบางท่านอาจไม่ได้มีอาการป่วยใดๆ แต่อาจเกิดจากการที่ไม่สะดวกใจจะออกไปไหนกับลูกหลานเนื่องจากความสามารถในการขยับร่างกายหรือเดินนั้นไม่ได้คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน
ดังนั้นกิจกรรมที่สมาชิกในบ้านสามารถทำร่วมกับผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้านได้เป็นกิจกรรมง่ายๆ เช่น การทำอาหาร หรือให้ท่านช่วยสอนทำอาหาร การทำสวนปลูกพืชผักสวนครัวร่วมกับท่าน
กิจกรรมผู้สูงอายุติดเตียง
หรือ กิจกรรมที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด
เช่น หมากรุก หมากฮอส การคิดเลขง่ายๆ ปริศนาอักษรไขว้ เกมบันไดงู งานศิลปะวาดรูป งานประดิษฐ์ หรืออ่านหนังสือให้ท่านฟัง กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้พวกท่านได้ใช้ระบบสมองในการทำงานและได้ขยับร่างกายบ้างเล็กน้อย และยังเป็นการได้ร่วมกิจกรรมกับลูกหลานอีกด้วย
รวมถึงการออกกำลังกายง่ายๆ สำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่นอนบนเตียงเฉยๆ เป็นเวลานานๆ จะเริ่มเกิดความเครียดและเริ่มเบื่อหน่ายได้ หากผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะผู้ป่วยติดเตียงจะขยับร่างกายไม่ได้มากนัก แต่ก็ยังคงมีกิจกรรมออกกำลังกายง่ายๆ ได้ เช่น การบริหารมือและแขน การเดินด้วยตนเองพร้อมอุปกรณ์พยุงในระยะสั้นๆ หรือ ทำท่ากายภาพบำบัดง่ายๆ พร้อมกับลูกหลาน
เมื่อการได้ยิน ไม่ได้เป็นอุปสรรค ผู้สูงอายุก็จะสามารถทำกิจกรรมเหล่านี้ได้อย่างมั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง เลิกคิดว่าตัวเองไร้ประโยชน์ เป็นภาระของผู้อื่น ห่างไกลจากภาวะโรคซึมเศร้า
ระดับความดังของเสียงพูด โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 30 – 40 เดซิเบล
หากสงสัยว่าผู้สูงอายุที่บ้านเริ่มมีปัญหาการได้ยิน หูไม่ค่อยได้ยิน พฤติกรรมหรือกิจวัตรประจำวันของท่านเริ่มเปลี่ยนแปลงไป สามารถพาผู้สูงอายุเข้ารับการทดสอบการได้ยิน เพื่อเตรียมความพร้อมและแนวทางการรับมือได้อย่างทันท่วงที