เสียงเตือนภัยอันตราย คุณควรได้ยิน
ตรวจเช็คเครื่องช่วยฟัง เมื่อ ” เครื่องช่วยฟัง เสียงเบา “
เครื่องช่วยฟัง เปรียบเสมือนอวัยวะหู อุปกรณ์ช่วยการได้ยินของผู้บกพร่องทางการได้ยิน มีหน้าที่ขยายเสียงต่างๆ รอบตัว เสียงสัญญาณเตือนภัยอันตรายให้คุณระมัดระวัง เมื่อคุณเดินข้ามถนนหรือเดินอยู่บนฟุตบาท เสียงสิ่งแวดล้อม เสียงธรรมชาติ เสียงนก เสียงลม และเสียงคำพูดที่คุณใช้สื่อสารกับผู้อื่น
หากคุณใส่เครื่องช่วยฟังเป็นประจำสม่ำเสมอ คุณจะทราบได้ถึงความผิดปกติของเครื่องช่วยฟัง เมื่อเครื่องมีเสียงเบาลงจากเดิม กรณีเครื่องช่วยฟังเสียงเบา เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ทั้งนี้เรามี 4 สาเหตุให้คุณได้ตรวจเช็ค ดังนี้
1. สิ่งสกปรก อุดตัน
การใช้งานเครื่องช่วยฟังเป็นประจำทุกวัน ย่อมมีสิ่งสกปรกคราบเหงื่อไคล ขี้หู เหงื่อ หยดน้ำ หรือของเหลว ฯลฯ เกาะติดกับเครื่องช่วยฟัง ตัวกรองฝุ่น ท่อนำเสียง พิมพ์หูหรือจุกยาง สิ่งสกปรกเหล่านี้สามารถอุดตันและปิดกั้นการรับฟังเสียง ทำให้คุณได้ยินเสียงเบาลง เสียงไม่ชัด ขาดๆ หายๆ หรือไม่ได้ยินเสียงใดๆ เลย
คุณทำความสะอาดเครื่องช่วยฟัง ครั้งล่าสุด เมื่อไหร่?
ข้อควรรู้
การใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เช่น สเปรย์ เจล คุณควรถอดเครื่องช่วยฟังออกก่อนทุกครั้ง และรอจนกว่าผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมของคุณแห้ง แล้วจึงใส่เครื่องช่วยฟัง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถปิดกั้นรูรับเสียงของไมโครโฟนที่อยู่ด้านข้างตัวเครื่อง ทำให้เครื่องช่วยฟังเสียงเบาลงได้
2. ชิ้นส่วนอะไหล่ ชำรุด เสื่อมสภาพ
เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหูใช้งานกับพิมพ์หู พิมพ์หูจะถูกเชื่อมต่อด้วยท่อนำเสียงพลาสติก เมื่อคุณใช้งานไปสักระยะ ท่อนำเสียงของคุณอาจแข็งตัว ฉีก เปราะ แตก ทำให้เสียงส่งผ่านไปยังหูของคุณได้ไม่เต็มที่ ได้ยินเสียงเบาลง หรือบางกรณีท่อพลาสติกแข็งจนหดตัวทำให้พิมพ์หูถอยออกจากช่องหู เสียงจึงเบาลง และอาจเกิดเสียงวี๊ดออกมาเมื่อคุณใส่เครื่อง
ท่อนำเสียง อายุการใช้งาน ประมาณ 3 – 6 เดือน กรณีตัวท่อเริ่มแข็ง และกดทับใบหู ควรเปลี่ยนท่อใหม่
พิมพ์หู อายุการใช้งาน ประมาณ 2 – 3 ปี ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของช่องหูแต่ละบุคคล น้ำหนักตัว การเสื่อมสภาพของวัสดุ เช่น เปื่อย ฉีกขาด ควรพิมพ์หูใหม่
เครื่องช่วยฟังก็เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วๆ ไปที่มีอายุการใช้งาน เมื่อใช้งานไปนานๆ ประสิทธิภาพย่อมลดลง ชิ้นส่วนอะไหล่ เช่น ไมโครโฟนรับเสียง หรือแอมป์ภาคขยายเสียงเริ่มเสื่อมสภาพ สายไฟด้านในเริ่มเปื่อย ส่งผลให้เครื่องช่วยฟังเสียงเบาลง มีอาการติดๆ ดับๆ และไม่สามารถใช้งานได้ในที่สุด
ทั้งนี้เครื่องช่วยฟังขนาดเล็กจิ๋วของคุณ มีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 3 – 5 ปี หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลและเก็บรักษาอย่างถูกวิธี หลังจากคุณเลิกใช้งานในแต่ละวัน
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ล้วนกลัวความชื้นและน้ำ ดังนั้นการเก็บรักษาเครื่องช่วยฟังไว้กับสารดูดความชื้น หรืออบด้วยเครื่องอบไล่ความชื้นทุกคืน หลังจากคุณเลิกใช้งาน จะช่วยถนอมเครื่องช่วยฟังของคุณให้ใช้งานไปได้นานๆ
เมื่อพบว่า…
เครื่องช่วยฟัง เสียงเบา ทำอย่างไร?
คุณสามารถนำเครื่องช่วยฟังเข้ารับบริการตรวจเช็ค ณ ศูนย์บริการเครื่องช่วยฟังของคุณ เพื่อหาสาเหตุอาการดังกล่าว และเมื่อครบกำหนดการเช็คล้างทำความสะอาดเครื่องช่วยฟัง ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยฟังจะตรวจเช็คสภาพเครื่องและความสมบูรณ์ของชิ้นส่วนอะไหล่เครื่องช่วยฟัง เพื่อให้การใช้งานเครื่องช่วยฟังของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อตรวจเช็คการทำงานของเครื่องช่วยฟัง ทุกอย่างทำงานปกติ
เสียงที่เบา ไม่ได้เกิดจากเครื่องช่วยฟัง แต่มันเกิดจาก…การได้ยินของคุณ
4. การได้ยินลดลง
แม้ว่าคุณจะใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว การได้ยินของคุณก็สามารถลดลงได้ เครื่องช่วยฟังเพียงช่วยชะลอการเสื่อมและช่วยให้คุณได้ยินเสียง ทั้งนี้ยังมี สาเหตุการสูญเสียการได้ยินอื่นๆ ที่ทำให้การได้ยินของคุณลดลง
สำรวจตัวเอง…
• ใส่เครื่องเป็นประจำหรือไม่? การใส่เครื่องช่วยฟังเป็นประจำสม่ำเสมอจะช่วยกระตุ้นการทำงานของประสาทการได้ยิน ชะลอการเสื่อม
• ความสะอาดของช่องหู ช่องหูปราศจากขี้หูอุดตันปิดกั้นการส่งผ่านเสียง
• ร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นหวัด
สำรวจสิ่งรอบตัว…
• เสียงสิ่งแวดล้อม เสียงทุกอย่างที่คุ้นเคยได้ยินปกติ หรือไม่?
• สำรวจคู่สนทนา ระดับความดังเสียง น้ำเสียงที่ใช้ เสียงแหลม เสียงทุ้ม ผู้สูญเสียการได้ยินส่วนใหญ่จะฟังเสียงแหลมค่อนข้างยาก ฯลฯ
หากพบปัญหาการฟังเสียงดังกล่าว โปรดนัดหมายพบผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยฟัง เพื่อทำการปรับแต่งรายละเอียดเสียงให้กับคุณ
การได้ยินดี
สนุกกับงานอดิเรกที่คุณชื่นชอบ
เพื่อให้คุณได้ยินดีและสนุกตลอดการทำกิจกรรมงานอดิเรกของคุณ อย่าลืมพกแบตเตอรี่สำรอง ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เครื่องช่วยฟังจะส่งเสียงแจ้งเตือนคุณ 3 ครั้งติดต่อกัน เพื่อให้คุณทราบว่าแบตเตอรี่เครื่องช่วยฟังของคุณใกล้หมด และดังขึ้น 4 ครั้งติดต่อกัน ก่อนเครื่องจะดับลง