เมื่อคุณใส่เครื่องช่วยฟังเป็นครั้งแรก
สิ่งสำคัญคือ ช่วงระยะเวลาในการปรับตัว
เพื่อช่วยให้คุณคุ้นเคยกับเทคโนโลยีช่วยการได้ยินใหม่นี้ เมื่อรู้สึกสบายแล้ว คุณควรพยายามใส่เครื่องช่วยฟังให้มากที่สุด สมองและหูของคุณจะเริ่มปรับจูนเข้าหากันเพื่อให้สามารถได้ยินเสียงใหม่ๆ หรือเสียงที่คุณไม่ได้ยินมานานให้กลับมาได้ยิน
การได้ยินเกิดขึ้นที่สมอง ไม่ใช่ที่หู ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องให้สมองได้ยินเสียงอย่างต่อเนื่องผ่านการใช้เครื่องช่วยฟัง หูมีหน้าที่รับเสียงและส่งไปยังสมอง เมื่อสูญเสียการได้ยิน สมองก็จะขาดเสียง ขาดการรับรู้ ไม่สามารถประมวลผลใดๆ ได้อย่างเช่นเคย สมองจำเป็นต้องถูกกระตุ้นด้วยเสียงในระดับปกติอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สมองได้ทำหน้าที่จัดหมวดหมู่ต่างๆ เหมือนที่เคยเป็นมา เรากำลังฝึกสมองให้ได้ยินอีกครั้งด้วยเครื่องช่วยฟัง
เมื่อหูเริ่มกลับมาได้ยิน สมองก็จะเริ่มกลับมารับรู้และเหนื่อยล้าน้อยลง
เนื่องจากไม่ต้องใช้ความพยายามในการตั้งใจฟังมากเหมือนตอนที่คุณยังไม่ใส่เครื่องช่วยฟัง [อ่าน…หูตึงนำไปสู่ภาวะโรคสมองเสื่อม]
จะเกิดอะไรขึ้น?
ถ้าคุณ…ไม่ใส่เครื่องช่วยฟังทุกวัน
แน่นอนว่า ไม่มีกฎตายตัวที่ระบุว่าคุณต้องใส่เครื่องช่วยฟังตลอดทั้งวันและทุกวัน แต่จะดีกว่าแน่นอนหากคุณใส่เครื่องช่วยฟังเป็นประจำสม่ำเสมอ เพราะมันจะช่วยให้คุณยอมรับเสียงรบกวนรอบข้างได้มากขึ้น ทำให้สมองไม่รู้สึกต่อเสียงภายนอก และมุ่งความสนใจไปที่การฟังเฉพาะเสียงคำพูด
การใส่เครื่องช่วยฟังเป็นครั้งคราว ใส่เมื่อออกจากบ้าน สมองจะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเสียงและสิ่งเร้าที่ได้ยินทั้งหมด ทุกเสียงจะเข้ามาจนทำให้ผู้ใส่แยกแยะเสียงไม่ได้และปฏิเสธการใส่เครื่องช่วยฟัง เมื่อไม่ได้ใส่เครื่องช่วยฟังอย่างสม่ำเสมอ สมองจะกลับสู่โหมดสูญเสียการได้ยิน ซึ่งทำให้ผู้ใส่เครื่องช่วยฟังกลับไปยังจุดเริ่มต้น การประสบผลสำเร็จในการฟังก็จะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้น และอาจทำให้การสูญเสียการได้ยินของคุณแย่ลง
ใส่เครื่องช่วยฟัง วันละกี่ชั่วโมง?
หากคุณเพิ่งเริ่มใส่เครื่องช่วยฟัง ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรก ให้เริ่มใส่เครื่องในที่เงียบ เช่น ที่บ้าน หรือในสถานการณ์ที่มีเสียงรบกวนน้อยก่อน โดยเริ่มใส่วันละ 3 – 5 ชั่วโมง และค่อยๆ เพิ่มชั่วโมงการใส่มากขึ้นเป็นวันละ 5 – 7 ชั่วโมง ผู้ที่ใส่เครื่องช่วยฟังส่วนใหญ่พบว่าการฟังง่ายขึ้น สามารถปรับให้เข้ากับการได้ยินเสียงใหม่ๆ ได้มากขึ้นหลังจากใส่เครื่องช่วยฟังอย่างต่อเนื่อง 2 – 3 สัปดาห์แรก
เมื่อคุณเริ่มฟังได้ดีขึ้น สมองเริ่มรับรู้แล้วว่าควรเก็บข้อมูลใดและทิ้งข้อมูลใด ข้อมูลสำคัญอย่างเช่นเสียงพูด การสนทนา เพลง และเสียงที่มีความหมาย ข้อมูลที่ไม่สำคัญ เช่น เสียงรบกวน เสียงทำงานของตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศ คุณจะพบว่าคุณได้ยินเสียงเหล่านี้น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป
กิจกรรมใดบ้าง? ที่คุณไม่ควรใส่เครื่องช่วยฟัง
ไม่ควรใส่เครื่องช่วยฟัง เมื่อคุณนอนหลับ อาบน้ำ ทำผม และกิจกรรมทางน้ำ
• หากคุณเผลอนอนหลับไปพร้อมกับเครื่องช่วยฟังในหู คุณอาจรู้สึกไม่สบายจากการมีของแข็งอยู่ในหู ซึ่งอาจทำให้คุณปวดระบมจากการกดทับได้ เครื่องช่วยฟังควรได้รับการดูแลเก็บรักษาอย่างถูกวิธีหลังจากเลิกใช้งาน ถอดแบตเตอรี่ออกจากเครื่อง และเก็บลงในกล่องบรรจุสารดูดความชื้น พร้อมใช้งานในเช้าวันถัดไป
• กิจวัตรประจำวัน หลังจากตื่นนอน เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ควรงดเว้นการใส่เครื่อง หรือแม้กระทั่งการใช้สเปรย์ผม ไดร์ผม ควรหลีกเลี่ยงจากสารเคมีและความร้อน คุณจะใส่เครื่องได้ก็ต่อเมื่อสเปรย์ผมของคุณแห้งสนิทแล้ว หรือความร้อนจากไดร์เป่าผมเย็นลง [อ่าน…วิธีดูแลเครื่องช่วยฟัง]
• กิจกรรมในร้านเสริมสวยซาลอน เช่น ทำผม ทำสีผม สระผม ตัดผม หรือโกนหนวด ควรงดเว้นการใส่เครื่องช่วยฟังขณะทำกิจกรรมนั้นๆ
• กิจกรรมทางน้ำ ที่ต้องสัมผัสกับน้ำโดยตรง เช่น ว่ายน้ำ เซิร์ฟบอร์ด ควรหลีกเลี่ยง