เสียงนาฬิกาเดิน เสียงกดปากกา เสียงแป้นพิมพ์ หรือแม้กระทั่งเสียงเคี้ยว เสียงหายใจ
บางครั้งรวมถึงการเคลื่อนไหวซ้ำๆ เล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นต้นเหตุ เช่น มีคนอยู่ไม่สุข นั่งกระดิกเท้า
ความดังของเสียง หรืออิริยาบถการเคลื่อนไหวแค่เล็กๆ น้อยๆ สามารถทำให้คุณรู้สึกโกรธ หงุดหงิด รำคาญ หรืออยากจะหนี อาการเหล่านี้เรียกว่า โรคเกลียดเสียง (Misophonia)
โรคเกลียดเสียง เกิดจากอะไร?
โรคเกลียดเสียงหรือโรคไวต่อเสียงบางชนิด ถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งมีเสียงเป็นสิ่งเร้า เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของหูหรือการได้ยินแต่อย่างใด แต่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสมอง
Dr.Sukhbinder Kumar นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ระบุว่า ในคนที่มีภาวะเกลียดเสียงนั้น สมองส่วนอินซูล่าซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทสัมผัสกับอารมณ์ จะทำงานหนักกว่าคนทั่วไปในขณะที่ได้ยินเสียง ส่งผลให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด หรือวิตกกังวล หัวใจเต้นเร็ว และเหงื่อออกได้มากขึ้น ความผิดปกตินี้มีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง
จากสถิติพบว่า โรคเกลียดเสียงส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิง ตั้งแต่อายุ 9 – 13 ปี จนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีอาการถี่ขึ้น จนเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
โรคเกลียดเสียง รักษาอย่างไร?
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการบำบัดผู้ที่มีอาการโดยจิตแพทย์ ด้วยการให้ผู้ป่วยระบายความอึดอัดในใจ และอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงการกำเนิดของเสียง จากนั้นจึงค่อยๆ ฝึกให้ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ร่วมกับเสียงกระตุ้นเหล่านั้นได้โดยไม่รู้สึกรำคาญ หรือผสมผสานการบำบัดด้วยเสียงโดยนักโสตสัมผัสวิทยาและการให้คำปรึกษาแบบประคับประคอง
หรือหากมีอาการที่ยังไม่รุนแรง อาจลองเริ่มจากการหลีกเลี่ยงเสียงกระตุ้นเหล่านั้น โดยการใส่หูฟัง หรือใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยฟังที่สร้างเสียงในหูที่คล้ายกับเสียงน้ำตก หรือเบี่ยงเบนความสนใจไปทำอย่างอื่น เช่น การพูดคุยกับเพื่อน การอ่านหนังสือ
แต่ถ้ารู้สึกว่าอาการเกลียดเสียงเริ่มจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์จะดีที่สุด
การรักษาอื่นๆ
การใช้ชีวิตประจำวันก็มีบทบาทด้วยเช่นกัน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ และจัดการกับความเครียด การหลีกเลี่ยงเสียงรบกวน การอยู่ในพื้นที่เงียบสงบหรือจุดปลอดภัยในบ้านของคุณ โดยไม่มีใครส่งเสียงดังรบกวน
ยินดีให้คำปรึกษาปัญหาด้านการได้ยิน
ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053-271533, 089-0537111
เฟซบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
ไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai