โอเมก้า 3 (Omega 3) กับการได้ยิน
โอเมก้า 3 หลายคนอาจรู้จักกันดี แหล่งสารอาหารที่มาจากปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า และปลาเฮอริ่ง นอกจากนี้โอเมก้า 3 ยังพบได้ในเมล็ดพืชและพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ เมล็ดแฟลกซ์ เมล็ดเจีย ถั่วพีแคน ถั่วเฮเซลนัท และถั่ววอลนัท หรือในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันคาโนลา เป็นต้น
โอเมก้า 3 (Omega 3) คืออะไร
มีความสำคัญกับการได้ยินอย่างไร
โอเมก้า 3 (Omega 3) เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ร่างกายไม่สามารถผลิตได้เอง จำเป็นต้องรับประทานอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เข้าไป โอเมก้า 3 แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ Alpha-Linolenic Acid (ALA), Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic Acid (DHA)
¹ ในปี 2023 เมื่อไม่นานมานี้ มีงานวิจัยค้นพบว่าการบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 3 (DHA) มากขึ้น อาจลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินที่เกี่ยวข้องกับอายุได้ ผลการวิจัยเผยว่า คนวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่มีระดับ DHA สูงกว่านั้นมีโอกาสมีปัญหาการได้ยินน้อยกว่าคนที่มีระดับ DHA ต่ำกว่าถึง 8% – 20%
การค้นพบนี้ไม่ได้หมายความว่า DHA จะป้องกันการสูญเสียการได้ยินได้ และระดับ DHA ต่ำ จะทำให้สูญเสียการได้ยิน แต่ชี้ให้เห็นว่า DHA อาจมีบทบาทสำคัญในการรักษาการทำงานของการได้ยิน ทั้งนี้ว่ากันว่ามีความเป็นไปได้ที่กรดไขมันโอเมก้า 3 จะช่วยปกป้องเซลล์ในหูชั้นใน หรืออาจลดอาการอักเสบจากเสียงดังและการติดเชื้อได้
โอเมก้า 3 คุณประโยชน์มหาศาล
มากกว่าการปกป้องการได้ยิน
โอเมก้า 3 (Omega 3) เป็นสารอาหารที่มีความสำคัญในการทำงานของสมองและเซลล์ประสาท ดวงตา และระบบหัวใจและหลอดเลือด ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ลดความดันโลหิต ลดไตรกลีเซอร์ไรด์ ช่วยขยายหลอดเลือด ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดไม่อุดตัน ระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายดีขึ้น เลือดไปเลี้ยงประสาทหูและอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายดีขึ้น ลดการอักเสบของประสาทหู ลดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นใน ชะลอการสูญเสียการได้ยินที่เกี่ยวข้องกับอายุ ลดความเสี่ยงประสาทหูเสื่อมที่อาจส่งผลต่อการได้ยิน
นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงดวงตา บำรุงสมอง เพิ่มความจำ ป้องกันโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ โรคหอบหืด โรคไมเกรน โรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ลดการเสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ²นักวิจัยพบว่าคนที่รับประทานปลา 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงของโรคหัวใจน้อยกว่าคนที่แทบจะไม่รับประทานปลา
โอเมก้า 3 ลดความเครียด
ห่างไกลภาวะซึมเศร้าและสมองเสื่อม
³โอเมก้า 3 เป็นสารอาหารที่ส่งผลต่ออารมณ์ กระบวนการความคิดในสมอง โดยมีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทเซโรโทนิน ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ ช่วยให้อารมณ์ดี มีสมาธิ อารมณ์ไม่แปรปรวน
เมื่อร่างกายหลั่งสารเซโรโทนินลดลงหรือมีระดับเซโรโทนินต่ำกว่าปกติ มักทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล โกรธง่าย หงุดหงิด และบางครั้งอาจแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงได้ กระตุ้นการหลั่งสารเซโรโทนินเพิ่มขึ้น ด้วยการรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3
มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่บริโภคปลาเป็นประจำมีโอกาสในการเกิดโรคซึมเศร้าได้น้อยมาก อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อาจช่วยรักษาสภาพจิตใจด้านอื่นๆ เช่น โรคอารมณ์แปรปรวน
โอเมก้า 3 (Omega 3) มีประโยชน์กับการได้ยินแล้ว ยังมีประโยชน์กับผู้สูญเสียการได้ยินทั้งทางตรงและทางอ้อมในการช่วยบำรุงระบบการทำงานของร่างกาย และยังช่วยรักษาสภาพจิตใจ ปรับสมดุลอารมณ์ ลดความเครียด เสริมสร้างความจำ บำรุงสมอง ลดความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่สูญเสียการได้ยิน ปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภค 250 – 500 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อบำรุงสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
การบริโภคอาหารที่มีโอเมก้า 3 เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย และการบริโภคอาหารเสริมอย่างน้ำมันปลา ควรเป็นทางเลือกเสริมหากในมื้ออาหารนั้นไม่มีโอเมก้า 3
หมายเหตุ: ผู้ที่แพ้อาหารทะเล ผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือดเช่น แอสไพริน วาร์ฟาริน หรือโคลพิโดเกล ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ควรหลีกเลี่ยง และผู้มีโรคประจำตัวบางโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
ปกป้องการได้ยินของคุณ จากภายในสู่ภายนอก
ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง และใช้อุปกรณ์ป้องกันการได้ยินเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีเสียงดังมาก เพื่อการมีสุขภาพการได้ยินที่ดี
การสูญเสียการได้ยิน ไม่สามารถรักษาให้หายได้แต่สามารถปรับปรุงได้ด้วยการใส่เครื่องช่วยฟัง การสูญเสียการได้ยินที่ไม่ได้รับการแก้ไขสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ขาดความมั่นใจ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาในการเข้าสังคม สร้างความรู้สึกโดดเดี่ยว ปลีกตัวออกจากสังคม นำพาไปสู่ภาวะซึมเศร้า และสมองเสื่อมในอนาคตได้
ปรับปรุงการได้ยินของคุณ ด้วยการใส่เครื่องช่วยฟัง
ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินและเครื่องช่วยฟัง พร้อมให้คำแนะนำ Solution การได้ยิน สำหรับคุณ