ขึ้นชื่อว่า ยา ใช้สำหรับรักษาโรคและบรรเทาอาการเจ็บป่วย ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ การใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ศึกษาเอกสารกำกับยา วิธีใช้ ข้อห้าม และผลข้างเคียง มียาหลายชนิดก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น สูญเสียการได้ยิน หูอื้อ หรือเสียงดังในหู และปัญหาการทรงตัว เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ ในทางการแพทย์ เรียกว่า ความเป็นพิษต่อหู (Ototoxic) หรือ การสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากยา
American Speech Language Hearing Association (ASHA) ได้ให้ข้อมูลยาที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียการได้ยินและความผิดปกติของการทรงตัว มากกว่า 200 ชนิด ตามใบสั่งแพทย์และจำหน่ายตามร้านขายยา รวมถึงยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อร้ายแรงอย่างมะเร็ง และโรคหัวใจ
ยาที่มีความเป็นพิษต่อหู
ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างไร?
สูญเสียการได้ยิน หูอื้อ เสียงดังในหู และปัญหาการทรงตัว บางครั้งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ร่างกายสามารถเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน ภาวะหูอื้อ เสียงดังในหู อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับยา ปริมาณการใช้ และระยะเวลาที่รับประทานยา โดยทั่วไปความเสี่ยงของความเป็นพิษต่อหูจะเพิ่มขึ้นเมื่อยาสะสมอยู่ในร่างกาย การสูญเสียการได้ยินอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หรือถาวรได้
รู้หรือไม่!…
ยาแก้ปวดที่คุณใช้ ยาอมแก้เจ็บคอ ยาตามร้านขายยา ยารักษาโรคความดัน ยาหยอดหู ยาหยอดตา สามารถสร้างความเป็นพิษต่อหูได้
ยาที่มีความเป็นพิษต่อหู แบบถาวร
• ยาปฏิชีวนะ กลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์บางชนิด เช่น เจนตามัยซิน โทบรามัยซิน อะมิกาซิน สเตรปโตมัยซิน นีโอมัยซิน กลุ่มยาใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างรุนแรงที่ดวงตา หู ผิวหนัง หรือทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
พบได้ทั่วไปใน ยาหยอดหู ยาหยอดตา ยาอมแก้เจ็บคอ ยารักษาโรควัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฯลฯ
ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ แพทย์จะไม่สั่งจ่ายให้เป็นเวลานานกว่า 10 วัน และจะไม่สั่งจ่ายให้กับผู้ที่มีแก้วหูทะลุ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินจากประสาทสัมผัสอย่างถาวร
• ยาเคมีบำบัดมะเร็ง เช่น ซิสพลาติน และคาร์โบพลาติน ผลข้างเคียงจากการสูญเสียการได้ยินของยานี้ ได้แก่ หูอื้อ อาการเวียนศีรษะ และการสูญเสียการได้ยินชั่วคราวและถาวร ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งหนึ่งที่รับประทานยานี้มีอาการเป็นพิษต่อหู
ยาที่มีความเป็นพิษต่อหู แบบชั่วคราว
• ยาแก้ปวดซาลิไซเลต เช่น แอสไพริน ยารักษาอาการปวด และรักษาสภาวะของหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ได้ยินเสียงดังในหู รู้สึกสับสน ประสาทหลอน หายใจถี่ หายใจเร็ว ชัก บวม สูญเสียการได้ยินโดยทั่วไปแล้วหลังจากใช้ยาในปริมาณมากเป็นเวลานานเท่านั้น
• ยากลุ่มควินิน ควินีดีน คลอโรควิน และไฮดรอกซีคลอโรควิน เช่น รักษาโรคมาลาเรีย โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือลูปัส ผลข้างเคียง ได้แก่ ทำให้เกิดอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง หน้าแดง เหงื่อออก ระดับกลูโคส/น้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ภาวะซีดเพราะเม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะสีเข้ม/ปัสสาวะเป็นเลือดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก
• ยาขับปัสสาวะบางชนิด ได้แก่ ฟูโรซีไมด์ (Lasix) กรดอีทาไครนิก และบูมีทาไนด์ ใช้รักษาโรคหัวใจ โรคตับ โรคไตบางชนิด โรคความดันโลหิตสูง (BP หรือยาลดความดันโลหิต)
ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง แม้ว่ายารักษาโรคเบาหวานมักไม่ก่อให้เกิดพิษต่อหู แต่น้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังอาจทำให้เกิดปัญหาการได้ยินได้ โดยทำให้การส่งสัญญาณประสาทไปยังหูบกพร่อง ยารักษาโรคเบาหวาน 75 ชนิด ประมาณหนึ่งในสี่ของยาที่มีความเชื่อมโยงกับอาการหูอื้อ สูญเสียการได้ยิน
ข้อควรระวัง โอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อหูเพิ่มขึ้น
• ผลกระทบมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นเมื่อให้ยาทางหลอดเลือดดำ
• การใช้ยาที่มีความเป็นพิษต่อหู มากกว่า 1 ชนิด
• ครอบครัวมีประวัติไวต่อยาเหล่านี้
• การสัมผัสเสียงดัง ขณะรับประทานยาที่เป็นพิษต่อหู
อย่าเพิกเฉย ต่อการสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหัน
ระหว่างการใช้ยา หากประสบปัญหาการได้ยินหรือการทรงตัวอย่างกะทันหัน ให้ติดต่อแพทย์ผู้ดูแลทันที อย่าหยุดรับประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ และอย่าเพิกเฉยต่ออาการสูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหัน ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด
วิธีการป้องกันตนเอง จากยาที่เป็นพิษต่อหู
ลดความเสี่ยง ด้วยการทดสอบการได้ยิน
ในระหว่างการรักษาด้วยยา ให้เข้ารับการทดสอบการได้ยินเป็นระยะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการติดตาม วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงการได้ยิน หรือปัญหาการทรงตัวได้ ผลการทดสอบนี้สามารถช่วยให้คุณและแพทย์ตัดสินใจในการหยุดหรือเปลี่ยนแปลงการรักษาด้วยยา ก่อนที่การได้ยินของคุณจะได้รับผลกระทบ
การสูญเสียการได้ยินจากยา เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ อาการและความรุนแรงอาจแตกต่างกันไป ไม่ได้หมายความว่า การรับประทานยาดังกล่าวจะสูญเสียความสามารถในการได้ยินเสมอไป การตอบสนองต่อยาของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน และผลข้างเคียงอาจมีตั้งแต่หูอื้อชั่วคราว สูญเสียการได้ยิน ไปจนถึงความเสียหายต่อการได้ยินอย่างถาวร หรือในบางกรณีอาจไม่มีการสูญเสียการได้ยินเลย