Tag Archive for: เวียนศีรษะ

บ้านหมุน รักษา

      หลายคนเคยเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน รู้สึกว่ารอบตัวหรือสิ่งของที่มองเห็นหมุนไป หรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนไป ทั้ง ๆ ที่ก็อยู่กับที่ หากมีอาการขึ้นมาก็ทรงตัวลำบาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิดได้ บางคนมีอาการเป็นนาที บางคนมีอาการเป็นวัน ช่วงเวลาที่มีอาการต่างกัน ก็มาจากสาเหตุต่างกัน งั้นมาเข้าใจอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนกันดีกว่า

 

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ช่วงเวลาเป็น “วินาที”

      มักเกิดตอนเปลี่ยนท่าทาง เช่นขณะล้มตัวลงนอน ลุกจากที่นอน เงยหน้า ก้มเก็บของ มักมีอาการเป็นช่วงสั้น ๆ แค่ช่วงวินาที บางรายมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย อาจมีอาการตากระตุก ขณะเปลี่ยนท่าทางเร็ว ๆ

      ถือว่าเป็นอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุมาจาก โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (BPPV: Benign Paroxysmal Positioning Vertigo) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน จึงพบมากในผู้สูงอายุ

 

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ช่วงเวลาเป็น “นาที”

      มีอาการหลากหลาย นอกจากเวียนศีรษะบ้านหมุน อาจเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรนร่วมด้วย โดยจะมีอาการครั้งละหลายนาที แต่ไม่ถึงชั่วโมง

      สาเหตุเกิดจาก ก้านสมองขาดเลือดชั่วคราว (VBI: Vertebro Basilar Arterial Insufficiency) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของเลือดในบริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง ทำให้เกิดความบกพร่องของระบบประสาท ซึ่งบกพร่องไม่เกิน 24 ชั่วโมง หากเกินกว่านี้จะถือว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

 

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ช่วงเวลาเป็น “ชั่วโมง”

      มักเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนอย่างรุนแรง มีอาการคลื่นไส้อาเจียนและเสียสมดุลร่างกาย อาจมีอาการนานเกิน 20 นาที ถึงหลายชั่วโมง นอกจากนี้อาจมีการได้ยินลดลง มีเสียงดังในหู บางครั้งอาจพบอาการหูอื้อด้วย

      สาเหตุเกิดจาก โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เกิดจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ในหูชั้นใน ระหว่างที่เกิดอาการ ควรอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับศีรษะ เพราะอาจทำให้อาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นได้

 

อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ช่วงเวลาเป็น “วัน”

      มักมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงและเป็นอยู่หลายวัน โดยส่วนมากมักมีการได้ยินที่ปกติ

      สาเหตุเกิดจาก หูชั้นในอักเสบ / ติดเชื้อไวรัส (Labyrinthitis / Vestibular Neuronitis) มักมีประวัติระบบทางเดินหายใจอักเสบมาก่อน ถ้าเชื้อไวรัสลามสู่หูชั้นใน จะทำให้เกิดการอักเสบ แต่หากอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียบริเวณหูชั้นกลาง โรคหูน้ำหนวก แล้วลุกลามเข้าสู่หูชั้นใน อาการมักรุนแรง จนมีอาการสูญเสียการได้ยินร่วม

 

 

หากมีข้อสงสัยหรืออาการของโรค สามารถปรึกษาเราได้

ศูนย์สุขภาพการได้ยิน อินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053271533, 0890537111
คุยเฟสบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
คุยไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai

Tinnitus เสียงดังในหู

 

      เสียงดังในหู (Tinnitus) เป็นความผิดปกติทางหูที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพราะกลัวว่าจะเป็นอันตราย หรือเพราะเสียงดังในหูนั้นก่อให้เกิดความรำคาญจนนอนไม่หลับ

      ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้ยินเสียงดังเฉพาะตัวผู้ป่วยเอง ผู้อื่นไม่ได้ยินเสียงนี้ด้วย มักบอกว่าเสียงดังในหูนั้นคล้ายเสียงจักจั่น หรือจิ้งหรีดร้องอยู่ภายใน อาจเป็นเสียงวี๊ดๆ หึ่งๆ ซ่าๆ อาจมีอาการข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มักได้ยินชัดขึ้นในเวลากลางคืนหรือในที่เงียบๆ ผู้ป่วยอาจมีเสียงดังในหูเพียงอย่างเดียว หรือบางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หูอื้อ ปวดหู เวียนศีรษะ บ้านหมุน

 

ชนิดของ เสียงดังในหู


1. เสียงดังในหู ชนิดที่บุคคลภายนอกสามารถได้ยิน (Objective Tinnitus)

      หรือเสียงที่มีแหล่งกำเนิดเสียงจริงอยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งผู้ที่ตรวจหรือคนอื่นอาจได้ยินด้วย เช่น

  • เสียงที่เกิดจากเส้นเลือดแดงโป่งพอง หรือมีการเชื่อมต่อผิดปกติกับหลอดเลือดดำ หรือวางอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ ซึ่งพบได้ทั้งหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง โดยในกลุ่มนี้ เสียงที่ได้ยินมักจะเป็นเสียงความถี่ต่ำๆ และเสียงจะสัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจ มักดังขึ้นเมื่อออกกำลังกาย
  • เสียงดังในหูที่เกิดจากการหายใจเข้าหรือออก อาจเกิดจากความผิดปกติของท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก

 

2. เสียงดังในหู ชนิดที่ผู้ป่วยได้ยินคนเดียว (Subjective Tinnitus)

      หรือเสียงที่มีการรับรู้ผิดปกติ โดยที่ไม่มีเสียงเกิดขึ้นจริง มักเกิดจากความผิดปกติของประสาทหู รวมถึงสมองส่วนการรับเสียงและแปรผล โดยอาจเกิดจากทั้งอวัยวะดังกล่าวเสื่อม หรือเกิดจากภาวะเนื้องอกกดเบียด เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ของคนที่มีเสียงดังรบกวนในหู โดยเสียงที่ได้ยินมักจะเป็นเสียงความถี่สูง

       • หูชั้นใน สาเหตุที่พบได้บ่อยสุด คือประสาทหูเสื่อมจากอายุ นอกจากนั้นการเสื่อมของเส้นประสาทหู อาจเกิดจาก การได้รับเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (acoustic trauma) เช่น ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงประทัด การได้รับเสียงที่ดังในระยะเวลานานๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (noise-induced hearing loss) เช่น อยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมากๆ การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหูู (ototoxic drug) เป็นระยะเวลานาน เช่น aspirin salicylate aminoglycoside quinine การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน (labyrinthine concussion) การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) เช่น ซิฟิลิส ไวรัสเอดส์ การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน มีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

       • สมอง โรคของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมอง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหู หรือประสาทการทรงตัว (acoustic neuroma)

       • สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง โรคต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดเสียงดังในหูได้

 

 

      เสียงดังในหู เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจมีสาเหตุจากประสาทหูเสื่อม หายได้เองหรืออยู่กับผู้ป่วยไปตลอดชีวิต หรืออาจมีสาเหตุจากโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของสมอง เส้นประสาท เส้นเลือดแดงโป่งพอง ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจเมื่ออาการเสียงดังในหู ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของโรคและเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ก่อนจะสายเกินแก้…

 

 

 


บริการทดสอบการได้ยิน นำผลพบแพทย์เพื่อขั้นตอนการรักษา

ศูนย์สุขภาพการได้ยิน อินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053271533, 0890537111
Facebook: m.me/hearingchiangmai
Line Official: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai