Posts

ยาเป็นพิษต่อหู Ototoxic

ยาเป็นพิษต่อหู (Ototoxic Drugs) กลุ่มยาที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น สูญเสียการได้ยิน หูอื้อ หรือเสียงดังในหู และปัญหาการทรงตัว พบได้ในยาแก้ปวดทั่วไป ยารักษาเบาหวาน

คาเฟอีน กาแฟ กับการได้ยิน

คาเฟอีนกับการได้ยิน เกี่ยวข้องกันอย่างไร ดื่มกาแฟมีผลกับการได้ยิน เสียงดังในหู หูอื้อ โรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือไม่ ควรดื่มกาแฟเครื่องดื่มคาเฟอีนอย่างไรให้ปลอดภัย

ท่อยูสเตเชียน กับอาการเสียงดังในหู

 

ท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube) คืออะไร


      ท่อยูสเตเชียนเป็นท่อทางเดินขนาดเล็กและแคบ ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก เมื่อใดก็ตามที่กลืน หาว หรือจาม ท่อยูสเตเชียนนี้จะเปิดออก วิธีนี้จะป้องกันไม่ให้ของเหลวและความดันอากาศถูกสร้างขึ้นภายในหู


 

ความสำคัญของท่อยูสเตเชียน

     ท่อยูสเตเชียน ทำหน้าที่ช่วยปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก เมื่อใดที่ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ จะทำให้เกิดอาการหูอื้อ ปวดหู มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะบ้านหมุนได้

 

 

ท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ สาเหตุจาก


      ความผิดปกติของท่อยูสเตเชียน มักเกิดจากการอักเสบของท่อ ทำให้เมือกและของเหลวถูกสร้างขึ้น อย่างไรก็ตามการสะสมของของเหลวอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อหวัดไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัส

      และรวมถึงการเปลี่ยนแปลงระดับความกดดันบรรยากาศอย่างรวดเร็ว เช่น ขึ้น-ลงลิฟท์ เร็วๆ เครื่องบินขึ้น-ลงเร็ว ดำน้ำโดยลดระดับเร็วเกินไป หรือแม้กระทั่งการเดินทางขึ้นภูเขา ทำให้เกิดอาการหูอื้อ ปวดหู มีเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะบ้านหมุน

 

วิธีการรักษา


  1. รับประทานยา ;- ยาแก้แพ้ (Anti-histamine, ยาหดหลอดเลือด (Oral decongestant  เช่น Pseudoephedrine) หรือ พ่นจมูกด้วยยาหดหลอดเลือด (Topical decongestant เช่น Ephedrine, Oxymetazoline) อาจร่วมกับการล้างจมูก
  2. ควรทำให้ท่อยูสเตเชียนทำงาน เปิด-ปิด ตลอดเวลา ;- เคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อให้มีการกลืนน้ำลายบ่อยๆ การทำ Toynbee maneuver  การทำ Valsalva maneuver
  1. กรณีทำ 2 วิธีดังกล่าวข้างต้น แล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจรักษาโดยวิธีผ่าตัด คือการเจาะเยื่อบุแก้วหู (myringotomy) เพื่อปรับความดันของหูชั้นกลางให้เท่ากับบรรยากาศภายนอก และระบายของเหลวภายในหูชั้นกลาง (ถ้ามี) ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องใส่ท่อ (myringotomy tube) คาไว้ที่เยื่อบุแก้วหู
  2. ควรป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง เช่น เครียด วิตก กังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ การสัมผัสอากาศที่เย็นมากเกินไป อากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือผู้ป่วยที่อาจแพร่เชื้อได้

 


หมายเหตุ ;-
    • การทำ Toynbee maneuver คือบีบจมูก 2 ข้าง และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง และเอามือที่บีบจมูกออก และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง 
    • การทำ Valsalva maneuver ซึ่งทำได้โดยให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าเต็มที่ และเอามือบีบจมูกไว้ ปิดปาก แล้วเบ่งลมให้อากาศผ่านทางจมูกที่ปิด อากาศจะผ่านไปที่ท่อยูสเตเชียน เข้าสู่หูชั้นกลาง และเอามือที่บีบจมูกออก และกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง ขณะที่เป็นหวัด หรือไซนัสอักเสบซึ่งมีการติดเชื้อในจมูก ไม่ควรทำวิธีนี้ เพราะจะทำให้เชื้อโรคในจมูก หรือไซนัส เข้าไปสู่หูชั้นกลางได้

 

 

ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053-271533, 089-0537111
Facebook: m.me/hearingchiangmai
Line: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
1. ผศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน; ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
2. londonhearing

 

สูญเสียการได้ยิน หูตึง เชียงใหม่

 

      การสูญเสียการได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นระดับเล็กน้อยถึงปานกลางที่เรียกว่า “หูตึง” หรือระดับรุนแรงที่เรียกว่า “หูหนวก” ก็ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง เพราะไม่สามารถได้ยินและสื่อสารกับคนรอบข้างได้

 

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่อาจส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยิน?


  1. อายุที่มากขึ้น โครงสร้างของหูชั้นในเสื่อมลง จึงส่งผลต่อการได้ยิน
  2. การได้ยินเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นการได้ยินเสียงดังสะสมจากการทำงานในที่ที่มีเสียงดัง การได้ยินเสียงดังมากในระยะสั้นเช่นเสียงปืนหรือเสียงระเบิด ก็ล้วนเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยิน
  3. พันธุกรรม ปัญหาการได้ยินสามารถถูกถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้
  4. ยาบางชนิด เช่นยาลดไข้แอสไพริน ยาขับปัสสาวะ หากรับประทานต่อเนื่องนานเกินไป หรือปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ก็อาจทำให้เกิดอาการเสียงดังในหู (Tinnitus) หรือสูญเสียการได้ยิน
  5. การเจ็บป่วย  โรคบางชนิดเช่นไข้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้หูดับหรือหูหนวกได้
  6. ความเครียดหรือพักผ่อนน้อย เมื่อสะสมนานๆ เข้าก็มีผลต่อประสาทหูเสื่อมได้

 

เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรตรวจการได้ยินเป็นประจำทุกปี ควรป้องกันไว้ก่อนสายเกินแก้

 

ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053271533, 0890537111
เฟซบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
ไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai

หูตึง สัญญาณ อาการหูตึง เชียงใหม่

 

หูตึง เป็นปัญหาการได้ยินที่คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มรู้ตัวก็ต่อเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น และไม่ทันสังเกตตัวเอง ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้ ท่านสามารถตรวจเช็คอาการได้ด้วยของท่านเอง กับ 9 อาการดังนี้

 

9 อาการ สัญญาณเสี่ยงต่อ “หูตึง”

ตรวจเช็คอาการเข้าข่าย หูตึง ได้ดังนี้


หูตึง เสียงดังในหู

1. มีเสียงดังในหู บ้างหรือเปล่า?
      เสียงดังในหู (Tinnitus) เช่น เสียงจิ้งหรีด บางรายมีลมออกหู หรือหูอื้อ ส่วนมากเกิดกับคนที่อยู่กับเสียงดังบ่อยๆ เช่นคอนเสิร์ต ผับ โรงงานอุตสาหกรรม หากใครมีอาการเสียงดังในหูบ่อยครั้ง หรือจำเป็นต้องอยู่ในที่เสียงดังเป็นประจำ แนะนำให้ตรวจการได้ยินทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

 

หูตึง ฟังไม่รู้เรื่อง

2. คนเยอะจัง ฟังไม่รู้เรื่องเลย!
      ทำอย่างไรดีฟังไม่รู้เรื่องเลย? เวลาไปร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือห้างสรรพสินค้า ในที่ที่ผู้คนจอแจ มีใครมีปัญหาในการได้ยิน และพูดคุยลำบากบ้าง หากท่านมีอาการแบบนี้ เราขอแนะนำให้ท่านลองตรวจการได้ยิน

 

หูตึง พูด อะไรนะ

3. อะไรนะ คำพูดเดิม ซ้ำๆ
      รู้จักใครที่มีคำพูดติดปากว่า “อะไรนะ?” รีบแสดงความห่วงใย แสดงความรักให้เขา ด้วยการบอกให้เขามาตรวจการได้ยินเลยนะ แต่อย่ามัวแต่ห่วงใยคนอื่น โดยลืมเช็คตัวเองล่ะ คุณหรือเปล่า ที่ชอบพูดว่า “อะไรนะ?”

 

หูตึง เสียงจากไหน

4. เสียงมาจากไหนเนี่ย?!
      หลายคนแยกไม่ออกว่าเสียงที่ได้ยินมาจากไหน มาจากหน้าบ้าน จากเสียงทีวี หรือจากคนคุยกัน แบบนี้เวลาไปอยู่กับคนเยอะๆ ยิ่งสื่อสารลำบาก

 

หูตึง เปิดเสียงดัง

5. จะเปิดเสียงดังไปถึงไหน?!
      คนในบ้านก็เริ่มถามละว่าทำไมเปิดทีวีเสียงดังจัง ขับรถกับเพื่อน ก็โดนบ่นว่าเปิดเพลงเสียงดังไป อาการแบบนี้ อาจกำลังสูญเสียการได้ยิน

 

หูตึง ฟังเสียงเด็ก เสียงผู้หญิงลำบาก

6. ลำบากจัง เสียงเด็กและเสียงผู้หญิง
      ถ้าการฟังเสียงเด็กและเสียงผู้หญิงเป็นเรื่องปวดหัว ก็เป็นอีกอาการว่ากำลังสูญเสียการได้ยิน เพราะเสียงเด็กหรือผู้หญิงจะมีระดับความถี่สูงกว่าผู้ชาย ซึ่งคนที่หูตึงในระยะเริ่มต้นมักจะสูญเสียการได้ยินในช่วงความถี่สูงก่อน รีบมาตรวจการได้ยิน ก่อนที่จะหูตึงไปมากกว่านี้นะ

 

หูตึง หูอักเสบ ขี้หู

7. หูอักเสบ หรือมีขี้หูเยอะไหมจ๊ะ?
      หูอักเสบบ่อยๆ จะทำลายหูชั้นกลางได้นะ จึงส่งผลต่ออาการหูตึงได้ง่ายมากขึ้น และบางคนที่มีขี้หูเยอะ ค้นหูบ่อยๆ ก็เสียงต่ออาการหูตึงด้วยเช่นกัน การตรวจการได้ยิน เลยเป็นสิ่งที่ควรทำทุกปี

 

หูตึง บ้านหมุน

8. บ้านหมุนบ้างป่าว?
      หูชั้นในมีส่วนสัมพันธ์กับการทรงตัว คนที่มีอาการหัวหมุนบ่อยๆ หรือบ้านหมุน จึงอาจเป็นอาการผิดปกติของหูชั้นใน ใครที่บ้านหมุนบ่อยๆ รีบไปตรวจการได้ยินล่ะ คงไม่สนุกหรอกมั้ง ที่จะนั่งรถไฟเหาะตลอดเวลา

 

หูตึง ฟังแล้วเหนื่อย

9. เหนื่อยจังเวลาเม้าท์มอย
      ไม่ใช่อาการเหนื่อยใจเวลาไปเม้าท์เรื่องชาวบ้านนะ แต่หมายถึงเวลาพูดคุยกับคนอื่น แล้วรู้สึกเหนื่อยที่จะต้องตั้งใจฟังเพื่อจับใจความ บางครั้งต้องคอยบอกให้เพื่อนพูดเสียงดังฟังชัดอีก ถ้าเหนื่อยขนาดนี้ ก็มาตรวจการได้ยินด้วยกันเถอะ

 

 



เป็นอย่างไรกันบ้าง หากท่านพบอาการ 1 ใน 9 สัญญาณเตือนนี้

แนะนำท่านลองตรวจการได้ยิน เพื่อป้องกันการเสี่ยงหูตึงแต่เนิ่นๆ

 

 

ศูนย์สุขภาพการได้ยิน อินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053271533, 0890537111
เฟซบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
ไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai

Tinnitus เสียงดังในหู

 

      เสียงดังในหู (Tinnitus) เป็นความผิดปกติทางหูที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพราะกลัวว่าจะเป็นอันตราย หรือเพราะเสียงดังในหูนั้นก่อให้เกิดความรำคาญจนนอนไม่หลับ

      ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้ยินเสียงดังเฉพาะตัวผู้ป่วยเอง ผู้อื่นไม่ได้ยินเสียงนี้ด้วย มักบอกว่าเสียงดังในหูนั้นคล้ายเสียงจักจั่น หรือจิ้งหรีดร้องอยู่ภายใน อาจเป็นเสียงวี๊ดๆ หึ่งๆ ซ่าๆ อาจมีอาการข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มักได้ยินชัดขึ้นในเวลากลางคืนหรือในที่เงียบๆ ผู้ป่วยอาจมีเสียงดังในหูเพียงอย่างเดียว หรือบางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หูอื้อ ปวดหู เวียนศีรษะ บ้านหมุน

 

ชนิดของ เสียงดังในหู


1. เสียงดังในหู ชนิดที่บุคคลภายนอกสามารถได้ยิน (Objective Tinnitus)

      หรือเสียงที่มีแหล่งกำเนิดเสียงจริงอยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งผู้ที่ตรวจหรือคนอื่นอาจได้ยินด้วย เช่น

  • เสียงที่เกิดจากเส้นเลือดแดงโป่งพอง หรือมีการเชื่อมต่อผิดปกติกับหลอดเลือดดำ หรือวางอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ ซึ่งพบได้ทั้งหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง โดยในกลุ่มนี้ เสียงที่ได้ยินมักจะเป็นเสียงความถี่ต่ำๆ และเสียงจะสัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจ มักดังขึ้นเมื่อออกกำลังกาย
  • เสียงดังในหูที่เกิดจากการหายใจเข้าหรือออก อาจเกิดจากความผิดปกติของท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก

 

2. เสียงดังในหู ชนิดที่ผู้ป่วยได้ยินคนเดียว (Subjective Tinnitus)

      หรือเสียงที่มีการรับรู้ผิดปกติ โดยที่ไม่มีเสียงเกิดขึ้นจริง มักเกิดจากความผิดปกติของประสาทหู รวมถึงสมองส่วนการรับเสียงและแปรผล โดยอาจเกิดจากทั้งอวัยวะดังกล่าวเสื่อม หรือเกิดจากภาวะเนื้องอกกดเบียด เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ของคนที่มีเสียงดังรบกวนในหู โดยเสียงที่ได้ยินมักจะเป็นเสียงความถี่สูง

       • หูชั้นใน สาเหตุที่พบได้บ่อยสุด คือประสาทหูเสื่อมจากอายุ นอกจากนั้นการเสื่อมของเส้นประสาทหู อาจเกิดจาก การได้รับเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (acoustic trauma) เช่น ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงประทัด การได้รับเสียงที่ดังในระยะเวลานานๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (noise-induced hearing loss) เช่น อยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมากๆ การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหูู (ototoxic drug) เป็นระยะเวลานาน เช่น aspirin salicylate aminoglycoside quinine การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน (labyrinthine concussion) การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) เช่น ซิฟิลิส ไวรัสเอดส์ การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน มีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

       • สมอง โรคของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมอง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหู หรือประสาทการทรงตัว (acoustic neuroma)

       • สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง โรคต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดเสียงดังในหูได้

 

 

      เสียงดังในหู เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจมีสาเหตุจากประสาทหูเสื่อม หายได้เองหรืออยู่กับผู้ป่วยไปตลอดชีวิต หรืออาจมีสาเหตุจากโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของสมอง เส้นประสาท เส้นเลือดแดงโป่งพอง ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจเมื่ออาการเสียงดังในหู ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของโรคและเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ก่อนจะสายเกินแก้…

 

 

 


บริการทดสอบการได้ยิน นำผลพบแพทย์เพื่อขั้นตอนการรักษา

ศูนย์สุขภาพการได้ยิน อินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053271533, 0890537111
Facebook: m.me/hearingchiangmai
Line Official: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai