Tinnitus เสียงดังในหู

 

      เสียงดังในหู (Tinnitus) เป็นความผิดปกติทางหูที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพราะกลัวว่าจะเป็นอันตราย หรือเพราะเสียงดังในหูนั้นก่อให้เกิดความรำคาญจนนอนไม่หลับ

      ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้ยินเสียงดังเฉพาะตัวผู้ป่วยเอง ผู้อื่นไม่ได้ยินเสียงนี้ด้วย มักบอกว่าเสียงดังในหูนั้นคล้ายเสียงจักจั่น หรือจิ้งหรีดร้องอยู่ภายใน อาจเป็นเสียงวี๊ดๆ หึ่งๆ ซ่าๆ อาจมีอาการข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มักได้ยินชัดขึ้นในเวลากลางคืนหรือในที่เงียบๆ ผู้ป่วยอาจมีเสียงดังในหูเพียงอย่างเดียว หรือบางคนมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หูอื้อ ปวดหู เวียนศีรษะ บ้านหมุน

 

ชนิดของ เสียงดังในหู


1. เสียงดังในหู ชนิดที่บุคคลภายนอกสามารถได้ยิน (Objective Tinnitus)

      หรือเสียงที่มีแหล่งกำเนิดเสียงจริงอยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งผู้ที่ตรวจหรือคนอื่นอาจได้ยินด้วย เช่น

  • เสียงที่เกิดจากเส้นเลือดแดงโป่งพอง หรือมีการเชื่อมต่อผิดปกติกับหลอดเลือดดำ หรือวางอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ ซึ่งพบได้ทั้งหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง โดยในกลุ่มนี้ เสียงที่ได้ยินมักจะเป็นเสียงความถี่ต่ำๆ และเสียงจะสัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจ มักดังขึ้นเมื่อออกกำลังกาย
  • เสียงดังในหูที่เกิดจากการหายใจเข้าหรือออก อาจเกิดจากความผิดปกติของท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลาง และโพรงหลังจมูก

 

2. เสียงดังในหู ชนิดที่ผู้ป่วยได้ยินคนเดียว (Subjective Tinnitus)

      หรือเสียงที่มีการรับรู้ผิดปกติ โดยที่ไม่มีเสียงเกิดขึ้นจริง มักเกิดจากความผิดปกติของประสาทหู รวมถึงสมองส่วนการรับเสียงและแปรผล โดยอาจเกิดจากทั้งอวัยวะดังกล่าวเสื่อม หรือเกิดจากภาวะเนื้องอกกดเบียด เป็นต้น ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ของคนที่มีเสียงดังรบกวนในหู โดยเสียงที่ได้ยินมักจะเป็นเสียงความถี่สูง

       • หูชั้นใน สาเหตุที่พบได้บ่อยสุด คือประสาทหูเสื่อมจากอายุ นอกจากนั้นการเสื่อมของเส้นประสาทหู อาจเกิดจาก การได้รับเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้นๆ ทำให้เส้นประสาทหูเสื่อมเฉียบพลัน (acoustic trauma) เช่น ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงประทัด การได้รับเสียงที่ดังในระยะเวลานานๆ ทำให้ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป (noise-induced hearing loss) เช่น อยู่ในโรงงาน หรืออยู่ในคอนเสิร์ตที่มีเสียงดังมากๆ การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหูู (ototoxic drug) เป็นระยะเวลานาน เช่น aspirin salicylate aminoglycoside quinine การบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะแล้วมีผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน (labyrinthine concussion) การติดเชื้อของหูชั้นใน (labyrinthitis) เช่น ซิฟิลิส ไวรัสเอดส์ การผ่าตัดหูแล้วมีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน มีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

       • สมอง โรคของเส้นเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบ เลือดออกในสมอง ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง เช่น เนื้องอกของเส้นประสาทหู หรือประสาทการทรงตัว (acoustic neuroma)

       • สาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจาง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ โรคที่มีระดับยูริกในเลือดสูง โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไขมันในเลือดสูง, โรคความดันโลหิตสูง โรคต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำให้เกิดเสียงดังในหูได้

 

 

      เสียงดังในหู เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจมีสาเหตุจากประสาทหูเสื่อม หายได้เองหรืออยู่กับผู้ป่วยไปตลอดชีวิต หรืออาจมีสาเหตุจากโรคที่อันตราย เช่น เนื้องอกของสมอง เส้นประสาท เส้นเลือดแดงโป่งพอง ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจเมื่ออาการเสียงดังในหู ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของโรคและเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ก่อนจะสายเกินแก้…

 

 

 


บริการทดสอบการได้ยิน นำผลพบแพทย์เพื่อขั้นตอนการรักษา

ศูนย์สุขภาพการได้ยิน อินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053271533, 0890537111
Facebook: m.me/hearingchiangmai
Line Official: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai