ประเภทการสูญเสียการได้ยิน

 

หูไม่ได้ยิน หูตึง สูญเสียการได้ยิน บกพร่องทางการได้ยิน (Hearing loss) หมายถึง ภาวะที่ความสามารถในการได้ยินหรือรับเสียงลดลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยไปจนถึงไม่ได้ยินเลย หรือที่เรียกว่า หูหนวก (Deaf หรือ Deafness)

 

ประเภทการสูญเสียการได้ยิน

แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

       ประเภทที่ 1 ชนิดการนำเสียงบกพร่อง

       ประเภทที่ 2 ชนิดประสาทรับเสียงบกพร่อง

       ประเภทที่ 3 ชนิดการรับเสียงบกพร่องแบบผสม

 

 


1. ประเภทการสูญเสียการได้ยิน ชนิดการนำเสียงบกพร่อง (Conductive hearing loss)

      สาเหตุมาจากความผิดปกติของหูชั้นนอก หรือ/และหูชั้นกลาง แต่ประสาทหูยังดีอยู่ สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ยาหรือการผ่าตัด โดยสาเหตุมักเกิดจาก

       • เยื่อแก้วหูทะลุ ผู้ป่วยมักจะมีความผิดปกติทางการได้ยินหลังการได้รับบาดเจ็บ
       • ขี้หูอุดตัน
       • หูชั้นกลางอักเสบ หรือหูน้ำหนวก
       • ภาวะมีน้ำขังอยู่ในหูชั้นกลาง
       • ท่อยูสเตเชียน ทำงานผิดปกติ ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและโพรงหลังจมูก
       • โรคหินปูนในหูชั้นกลาง ส่งผลให้เกิดอาการหูตึง โรคนี้สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย การรักษาต้องทำการผ่าตัดหรือใส่เครื่องช่วยฟัง
       • กระดูกหูชั้นกลางหัก หรือหลุดจากอุบัติเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูอื้อหูตึงทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ การรักษาต้องอาศัยการผ่าตัด
       • สาเหตุอื่นๆ เช่น หูพิการแต่กำเนิด สิ่งแปลกปลอมเข้าหู แก้วหูอักเสบ เยื่อแก้วหูหนา มีเลือดออกในหูชั้นกลาง ฯลฯ

 

ear โครงสร้างหู

 

2. ประเภทการสูญเสียการได้ยิน ชนิดประสาทรับเสียงบกพร่อง (Sensorineural hearing loss)

      เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของส่วนหูชั้นใน ประสาทรับเสียง ไปจนถึงสมอง ความผิดปกติบริเวณนี้จะทำให้ได้ยินเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง ส่วนใหญ่จะทำให้เกิดภาวะหูตึง หูหนวกถาวร ไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยสาเหตุมักเกิดจาก

       • ประสาทหูเสื่อมตามวัย/หูตึงในผู้สูงอายุ (80% มักเกิดจากสาเหตุนี้) มีสาเหตุมาจากเซลล์ขนในหูชั้นในและเส้นประสาทหูค่อยๆ เสื่อมไปตามอายุ โดยเฉพาะเซลล์ขนส่วนฐานของคอเคลียจะเสื่อมไปก่อน ทำให้สูญเสียการได้ยินช่วงเสียงแหลมเมื่ออายุมากขึ้น การเสื่อมจะลามไปถึงช่วงความถี่กลางสำหรับฟังเสียงพูด ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มหูตึง ฟังไม่ชัดเจน และมักบ่นว่าได้ยินเสียงแต่ฟังไม่รู้เรื่อง โดยมากผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ในผู้ชายจะมีโอกาสเป็นมากกว่าและมีความรุนแรงกว่าผู้หญิง การใส่เครื่องช่วยฟังจะช่วยให้ได้ยินได้

       • ประสาทหูเสื่อมจากเสียงที่ดังมากๆ เป็นการเสื่อมของเส้นประสาทหูที่เกิดจากการได้ยินเสียงที่ดังมากในระยะเวลาสั้น ๆ หรือได้ยินเพียงครั้งเดียว เช่น การได้ยินเสียงฟ้าผ่า เสียงระเบิด เสียงปืน เสียงพลุ หรือเสียงประทัด เป็นต้น

       • ประสาทหูเสื่อมแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการได้ยินเสียงดังระดับปานกลางหรือดังเกิน 85 เดซิเบลขึ้นไป เป็นเวลานานๆ เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงาน, ทหาร/ตำรวจที่ต้องฝึกซ้อมการยิงปืนเป็นประจำ, เสียงดังจากเครื่องจักรหรือยวดยานพาหนะต่างๆ, เสียงเพลงหรือเสียงดนตรี เสียงในงานคอนเสิร์ตที่ดังมากๆ เป็นต้น เนื่องจากเซลล์ประสาทหูถูกคลื่นเสียงทำลายไป ค่อยๆ เสื่อม และมักเป็นแบบถาวร และไม่มีทางแก้ไขให้กลับคืนมาดีได้เหมือนเดิม ถ้ายังอยู่ในที่ที่มีเสียงดังเช่นเดิม อาการหูตึงจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจรุนแรงจนถึงขั้นหูหนวกได้

       • ประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิด
       • สาเหตุทางกรรมพันธุ์
       • สาเหตุจากโรคทางกาย เช่น โรคเมเนียส์/น้ำในหูไม่เท่ากัน โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน เป็นต้น
       • สาเหตุที่เกิดในสมอง
       • หูชั้นในอักเสบ
       • การได้รับอุบัติเหตุของหูชั้นใน
       • การมีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน
       • การใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู

 

eardrop

 

3. ประเภทการสูญเสียการได้ยิน ชนิดการรับฟังเสียงบกพร่องแบบผสม (Mixed hearing loss)

      เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติในการนำเสียงบกพร่องร่วมกับประสาทรับเสียงบกพร่อง ซึ่งพบในโรคที่มีความผิดปกติของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง ร่วมกับความผิดปกติของหูชั้นใน โรคที่พบ เช่น

       • โรคหูน้ำหนวกเรื้อรังที่ลุกลามเข้าไปในหูชั้นใน
      • โรคในหูชั้นกลางของผู้สูงอายุที่มีปัญหาประสาทรับเสียงเสื่อมด้วย
       • โรคหินปูนเกาะกระดูกโกลนและมีพยาธิสภาพในหูชั้นในร่วมด้วย

 

 

อย่างไรก็ตาม มีผู้สูญเสียการได้ยินจำนวนไม่น้อยที่แพทย์ตรวจแล้วไม่พบสาเหตุ

 

 

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาการได้ยิน เราพร้อมให้คำปรึกษา

ศูนย์สุขภาพการได้ยินอินทิเม็กซ์ เชียงใหม่
โทร: 053-271533, 089-0537111
เฟซบุ๊ค: m.me/hearingchiangmai
ไลน์: line.me/ti/p/%40hearingchiangmai