สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย นอกจากสุขภาพร่างกายที่ต้องดูแลไม่ให้ป่วยแล้ว เครื่องช่วยฟังของคุณก็ต้องดูแลเหมือนร่างกายของคุณด้วยเช่นกัน เครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กภายในประกอบด้วยแผงวงจรและสายไฟ
และแน่นอน…พวกมันไม่ชอบน้ำ แม้ว่าเทคโนโลยีจะระบุระดับกันน้ำไว้ก็ตาม ทั้งนี้ไม่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดใดที่ชอบน้ำ
เมื่อเครื่องช่วยฟัง ต้องเจอกับ…
สภาพอากาศเปียกชื้น พายุฝน
น้ำ หยดน้ำ ฝน ละอองน้ำ ไอน้ำ ตัวการสำคัญในการสร้างความเสียหายให้กับเครื่องช่วยฟัง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ทำให้อุปกรณ์เกิดการช็อต ติดๆ ดับๆ หรือพังได้ในทันที บางกรณีกลายเป็นความชื้นสะสม ก่อให้เกิดสนิมหรือขี้เกลือ ค่อยๆ กัดกร่อนทำลายชิ้นส่วนอุปกรณ์อย่างช้าๆ ประสิทธิภาพการทำงานค่อยๆ ลดลง และไม่สามารถใช้งานได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเครื่องช่วยฟังของคุณเปียกน้ำ น้ำฝน เหงื่อ ละอองน้ำ ฯลฯ การทำให้เครื่องช่วยฟังแห้งเร็วที่สุดและแห้งสนิท เป็นวิธีที่ดีที่สุด [อ่าน…วิธีทำให้เครื่องช่วยฟังแห้ง]
สภาพอากาศประเทศไทย
สภาพอากาศร้อนชื้น ร้อนจัด
ด้วยสภาพอากาศของประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้นเป็นหลัก อากาศร้อนทำให้ร่างกายของคนเราผลิตเหงื่อออกมาอัตโนมัติเพื่อควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ผู้ใส่เครื่องช่วยฟังบริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง ต้องปะทะกับแสงแดดและอากาศร้อน เหงื่อมีโอกาสไหลเข้าสู่ตัวเครื่องสร้างความเสียหายได้ ควรหมั่นเช็ดหรือซับเหงื่อบริเวณใกล้ใบหูเป็นประจำ หรือหลีกเลี่ยงการใส่เครื่องช่วยฟังสำหรับกิจกรรมที่เหงื่อออกมาก อากาศร้อนไม่ได้มีเพียงแค่อุณหภูมิที่สูงเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับความชื้นในอากาศอีกด้วย
ความร้อน ไม่ว่าจากแสงอาทิตย์ อุปกรณ์ให้ความร้อนชนิดต่างๆ หรือแม้แต่การเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี มันสามารถสร้างความเสียหายให้กับเครื่องช่วยฟังของคุณได้เช่นเดียวกัน เช่น การเก็บเครื่องช่วยฟังไว้คอนโซลรถ เก็บไว้ในช่องเก็บของรถยนต์ หรือเก็บไว้ในห้องกระจกที่แสงแดดส่องถึง สถานที่เก็บเหล่านี้ล้วนมีความร้อนสะสมสูง
ความร้อนอุณหภูมิสูง สามารถทำให้เครื่องช่วยฟังของคุณละลายและผิดรูปได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น แบตเตอรี่เสื่อม แบตเตอรี่จ่ายไฟไม่ได้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เสียหาย ตัวเครื่องเสียหายผิดรูป สร้างความยากลำบากในการใช้งาน เช่น การกดปุ่มเพิ่ม – ลดเสียง เปลี่ยนฟังก์ชัน หรือร้ายแรงที่สุดคือเครื่องช่วยฟังของคุณชำรุดและไม่สามารถใช้งานได้
อุณหภูมิที่เหมาะสม
สำหรับการใช้งานและเก็บรักษาเครื่องช่วยฟัง
เครื่องช่วยฟัง สามารถใช้งานได้ยาวนาน 3 – 5 ปี หากได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี โดยในระหว่างการใช้งานเครื่องช่วยฟังจะต้องมีการดูแลให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ และกิจกรรมต่างๆ ที่ทำเป็นประจำ ผู้ใช้เครื่องช่วยฟังต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่าเครื่องช่วยฟังและความชื้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกัน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าอันที่จริงแล้ว ความร้อนเองก็เป็นอันตรายต่อเครื่องช่วยฟังได้เช่นเดียวกัน
อุณหภูมิและความชื้น ไม่ควรเกิน ดังต่อไปนี้
• ระหว่างการใช้งาน
อุณหภูมิ: +1 °C ถึง +40 °C
ความชื้นสัมพัทธ์: 5 % ถึง 93 % ไม่มีการควบแน่น
• ระหว่างการจัดเก็บ และการขนส่ง
อุณหภูมิ: -25 °C ถึง +60 °C
ความชื้นสัมพัทธ์: 5 % ถึง 93 % ไม่มีการควบแน่น
การเก็บรักษาเครื่องช่วยฟังที่ดี ควรจะเก็บไว้ในบริเวณที่แห้งหรืออุณหภูมิห้องปกติ เก็บให้พ้นจากแสงแดดและความชื้น และควรเก็บไว้ในกระปุกบรรจุสารดูดความชื้นหรือเครื่องอบไล่ความชื้นหลังจากเลิกใช้งาน เพื่อช่วยดูดซับความชื้นจากการใช้งานตลอดทั้งวันของคุณออกจากเครื่องช่วยฟัง และให้เครื่องของคุณพร้อมใช้งานในวันถัดไป
เมื่อ สภาพอากาศ ทำให้
เครื่องช่วยฟัง มีอาการผิดปกติ
• เสียงเหมือนเครื่องช็อต
• เสียงบี้ เสียงเพี้ยน
• เสียงขาดๆ หายๆ
• เครื่องช่วยฟังมีอาการติดๆ ดับๆ
• เครื่องเงียบ ไม่ทำงาน
หากพบว่าเครื่องช่วยฟังมีอาการดังกล่าว โปรดนำเครื่องช่วยฟังเข้ารับบริการตรวจเช็คและทำความสะอาด ณ ศูนย์บริการฯ