การสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง เป็นสาเหตุที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง รองจากการสูญเสียการได้ยินที่เกี่ยวข้องกับอายุ และส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณ 5% ของโลก
สูญเสียการได้ยิน จากเสียงดัง
Noise-Induced Hearing Loss : NIHL
การสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง (Noise-Induced Hearing Loss) เป็นการสูญเสียการได้ยินแบบถาวร ความเสื่อมจากเซลล์ขนภายในหูชั้นในถูกทำลายจากการสัมผัสเสียงดังที่เกินกว่า 85 เดซิเบล เป็นเวลานานๆ หรือสัมผัสกับเสียงที่มีความเข้มข้นสูง เช่น เสียงระเบิด หรือเสียงปืน อาการสัมผัสเสียงที่มีความเข้มสูงนี้มักส่งผลให้สูญเสียการได้ยินอย่างกะทันหัน และในบางครั้งอาจเกิดอาการเสียงดังในหู เสียงวิ๊งๆ วี๊ๆ วี๊ดๆ เสียงคล้ายจักจั่น เสียงหึ่งๆ คล้ายลม เสียงซ่าๆ เหมือนน้ำตก เสียงป๊อกๆ และคลิ๊กๆ เป็นต้น
สูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง สามารถป้องกันได้ การหลีกเลี่ยงเสียงดังหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียง เช่น ที่อุดหู Earplugs Earmuffs อาจช่วยปกป้องการได้ยินของคุณได้ในระยะยาว
สัมผัสเสียงดัง
เสียงอันตรายจากแหล่งใด และส่งผลอย่างไร
เสียงดัง จากการดำเนินชีวิตประจำวัน
เช่น อาชีพ สภาพแวดล้อม และงานอดิเรก เป็นต้น
อาชีพ สถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ได้แก่ อาชีพทันตแพทย์ ทหาร ตำรวจ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม โรงงาน สิ่งทอ ก่อสร้าง งานตัดเหล็ก งานไม้ ผลิตเฟอร์นิเจอร์ เครื่องแก้ว การระเบิด ย่อย โม่ หรือบดหิน การขนส่ง การคมนาคม แผนกซ่อมบำรุง ยานยนต์ เครื่องจักรกล ฯลฯ
• ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ปี 2561) ค่ามาตรฐานระดับเสียงเฉลี่ย 8 ชั่วโมงของการทำงาน ต้องไม่เกิน 85 dBA กรณีปฏิบัติงาน ระดับเสียงเกินกว่า 85 dBA ให้มีการทดสอบสมรรถภาพการได้ยินของผู้ปฏิบัติงาน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย พื้นที่ใกล้เคียงแหล่งกำเนิดเสียงดัง เช่น สนามบิน รางรถไฟ ถนน อู่ซ่อมรถ
นอกจากนี้ในทุกๆ วัน เรายังสัมผัสกับเสียงในสภาพแวดล้อมของเรา เช่น เสียงจากโทรทัศน์และวิทยุ เครื่องใช้ในครัวเรือน และการจราจร รวมถึงงานอดิเรก เช่น การฟังเครื่องเล่น MP3 การเข้าร่วมคอนเสิร์ต สนามยิงปืน การขับขี่บิ๊กไบค์ ฯลฯ เสียงในชีวิตประจำวันเหล่านี้ หากดังเกินไปสามารถทำลายโครงสร้างที่ละเอียดอ่อนภายในหูชั้นใน และทำให้สูญเสียการได้ยินจากเสียงได้
• ประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 กำหนดให้ ระดับเสียงในสิ่งแวดล้อมทั่วไป สูงสุดไม่เกิน 115 dBA และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 70 dBA
องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ว่า เสียงที่เป็นอันตราย หมายถึง ความดังของเสียงที่ดังเกิน 85 เดซิเบลเอ (dBA)
เสียงดัง
ผลกระทบต่อ การได้ยิน
ภาวะสูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง อาจเกิดขึ้นทันทีหรืออาจใช้เวลานานจึงจะสังเกตเห็นได้ อาจเกิดชั่วคราวหรือถาวร และอาจส่งผลต่อหูข้างหนึ่งหรือหูทั้งสองข้าง
อาการที่พบบ่อย เมื่อสัมผัสเสียงดัง เช่น รู้สึกแน่นหรือมีแรงดันในหู อาการอาจเกิดขึ้นได้หลายนาที หลายชั่วโมง หรือหลายวันหลังจากหยุดการได้ยินเสียง การได้ยินอาจกลับมาเป็นปกติ แต่ยังคงได้รับความเสียหาย หากสัมผัสเสียงดังอย่างต่อเนื่องอาจทำให้การได้ยินเสียหายมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ไม่สามารถได้ยินเสียงแหลม และอาจพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจผู้อื่นพูด เสียงอาจผิดเพี้ยนหรืออู้อี้ พูดไม่ชัด และต้องเพิ่มระดับเสียงโทรทัศน์ เป็นสาเหตุให้สูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี
ความเสียหายจากการสัมผัสเสียงดัง เมื่อรวมกับอายุที่มากขึ้น อาจทำให้สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรงจนต้องใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อขยายเสียงรอบตัว ช่วยการได้ยิน การสื่อสาร และมีส่วนร่วมในกิจกรรมประจำวันได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
สัมผัสเสียงดัง
ผลกระทบมากกว่า การได้ยินลดลง
เสียงที่ดังมากไป มักสร้างความรำคาญ หงุดหงิด ไม่สบายใจ ก่อให้เกิดภาวะเครียด ขาดสมาธิ ส่งผลให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิภาพลดลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงาน ในกรณีที่เสียงดังยามวิกาล อาจทำให้นอนไม่หลับ หากเกิดภาวะเช่นนี้ไปนานๆ อาจส่งผลทำให้สุขภาพแย่ลง และหากได้ยินเสียงดังเกินกว่ากำหนดเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้สูญเสียการได้ยินทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวร
เสียงดังส่งผลต่อสุขภาพ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจและชีพจรเต้นเร็วขึ้น เส้นเลือดหดตัว ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ระบบย่อยอาหาร ระบบต่อมต่างๆ และระบบกล้ามเนื้อ มีการทำงานผิดปกติ ทำให้รู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียง่าย เสียงดังและการสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะ หรือเฮลิคอปเตอร์ ยังทำให้ตาพร่ามัว เวียนศีรษะ เสียการทรงตัว ในบางรายกล้ามเนื้อหูหดตัวทันทีทำให้กระดูกหูชั้นกลางเคลื่อนไหว ส่งผลต่อการทรงตัว มีอาการบ้านหมุน และตากระตุก
สัมผัสเสียงดัง
สูญเสียการได้ยินบางช่วงความถี่
สัมผัสเสียงดัง มักส่งผลต่อหูทั้งสองข้าง และส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยินที่ความถี่ 3,000 4,000 หรือ 6,000 Hz ไม่ส่งผลต่อเสียงความถี่ต่ำ บางกรณีสูญเสียการได้ยินเพียงข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ผู้มีประวัติการใช้อาวุธปืน
สูญเสียการได้ยินจากเสียงดัง (NIHL) จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วง 10 – 15 ปีแรกของการสัมผัส โดยอัตราการสูญเสียการได้ยินจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งตรงกันข้ามกับการสูญเสียการได้ยินที่เกี่ยวข้องกับอายุ (Presbycusis) ที่จะสูญเสียการได้ยินเพิ่มมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป
ความรุนแรง
จากการสัมผัสเสียงดัง และอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ด้วยสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเสียงดังได้ การปกป้องการได้ยินด้วยอุปกรณ์ป้องกันเสียงจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากละเลยหรือไม่ตระหนักถึงการป้องกัน การสูญเสียการได้ยินอาจเกิดขึ้นก่อนวัยอันควรเมื่อสัมผัสเสียงดังเป็นประจำ และเมื่ออายุมากขึ้น คุณอาจพบว่า การได้ยินของคุณแย่ลง
การได้ยินแย่ลง มักเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร สร้างความเครียดและเหนื่อยล้าจนต้องปลีกตัวออกจากสังคม เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและสมองเสื่อม เครื่องช่วยฟังคืออุปกรณ์ช่วยการได้ยิน และรักษาคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูญเสียการได้ยิน
ปกป้องการได้ยินของคุณ ตั้งแต่วันนี้
• Ear Plugs ลดเสียงดัง ความถี่ต่ำประมาณ 20 dB ความถี่สูงประมาณ 30 dB
• Ear Muffs ลดเสียงดัง ความถี่ต่ำประมาณ 25 dB ความถี่สูงประมาณ 40 dB