รู้จัก โรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส
จุดกำเนิด…เชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตคอคคัสซูอิส (Streptococcus suis)
¹โรคติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส พบครั้งแรกในมนุษย์ เมื่อปี พ.ศ. 2511 ที่ประเทศเดนมาร์ก ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ 2 ราย และติดเชื้อในกระแสเลือด 1 ราย
สถานการณ์โรคในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และมีรายงานการศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2530 – พ.ศ. 2535 พบผู้ป่วย 6 ราย ผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นหนอง ทั้งนี้มีเพียง 3 ราย มีประวัติสัมผัสสุกรก่อนจะมีการป่วยด้วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมีอาการหูหนวกทั้งสองข้าง และพบอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) คือ…
²เชื้อ S. suis เป็นกลุ่มของแบคทีเรียแกรมบวก พบได้โดยปกติในทางเดินหายใจส่วนบนของสุกรอย่างต่อมทอนซิล โพรงจมูก โดยไม่ก่อโรค แต่เมื่อสุกรมีภาวะเครียดทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงส่งผลให้เกิดการติดเชื้อนี้ในกระแสเลือดได้ การเกิดโรคมักพบในลูกสุกรหลังหย่านม เป็นเชื้อก่อโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ถือเป็นปัญหาหลักในอุตสาหกรรมสุกรทั่วโลก
การเลี้ยงดูสุกรให้อยู่ในสภาวะสุขาภิบาลที่ดี เช่น ไม่เลี้ยงให้อยู่กันอย่างแออัด อากาศในโรงเรือนถ่ายเทสะดวกสามารถป้องกันความหนาวเย็นขณะที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันได้ สุกรจะมีร่างกายแข็งแรง เชื้อ S. suis ที่มีอยู่ในต่อมทอนซิลและโพรงจมูกก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนและฉวยโอกาสก่อให้เกิดโรคในสุกร
ปัจจุบันระบบการจัดการฟาร์มสุกรมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง ช่วยลดความเสี่ยงสุกรติดเชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัสซูอิส ทั้งนี้อุบัติการณ์ป่วยแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เชื้อซีโรทัยป์2 พบบ่อยที่สุดทั้งในสุกรและในคน อาการป่วย ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิต ลิ้นหัวใจอักเสบ
สำรวจ… อาการโรคไข้หูดับ จากเนื้อหมูดิบ
เมื่อสัมผัส หรือบริโภค เนื้อหมูที่มีเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส
เชื้อแบคทีเรียสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เข้าสู่ร่างกายจะใช้ระยะฟักตัวไม่กี่ชั่วโมงและจะแสดงอาการไม่เกิน 3 – 5 วัน ทั้งนี้ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับและช่องทางการรับเชื้อ รวมถึงพื้นฐานสุขภาพผู้รับเชื้อ
อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ…
มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน บางรายที่มีอาการรุนแรงก็จะส่งผลให้เยื้อหุ้มสมองอักเสบ และเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้ประสาทหูอักเสบจนหูดับหรือหูหนวก ติดเชื้อในกระแสเลือดและส่งผลให้อันตรายถึงชีวิตได้
สำหรับอาการการได้ยินลดลงนั้น เป็นอาการสำคัญของโรคไข้หูดับ แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการนี้
ดังนั้น หากมีประวัติสัมผัสเชื้อแต่อาจจะไม่มีอาการหูดับได้ สิ่งสำคัญคือประวัติการสัมผัสโรค ไม่ว่าจะเป็นการกินหรือการสัมผัสหมูที่เป็นโรค การมีประวัติดังกล่าวร่วมกับอาการที่ไม่สบาย ให้รีบไปพบแพทย์
สถานการณ์ โรคไข้หูดับ ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2568
ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2567 – 5 มกราคม 2568
³อธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคไข้หมูดิบ หรือไข้หูดับ ในประเทศไทย ณ วันที่ 7 มกราคม 2568 ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา…
พบผู้ป่วย จำนวน 956 ราย เสียชีวิต 59 ราย
• ผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในอัตรา 1 : 0.55
• ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี รองลงมา คือ อายุ 55 – 64 ปี และ 45 – 54 ปี ตามลำดับ
• ภูมิภาคที่มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ
• ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกราย มีปัจจัยเสี่ยง คือ กินเนื้อหมู เครื่องใน เลือด และผลิตภัณฑ์จากหมูแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ (ร้อยละ 56) และกลุ่มที่สัมผัสหมูโดยตรง (ร้อยละ 8)
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยเสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อได้สูงกว่าคนทั่วไป และหากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น
ผู้เสียชีวิตพบมากใน กลุ่มสูงอายุ 65 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ผู้เสียชีวิตมีประวัติติดสุราร่วมด้วย ร้อยละ 40
1. ล้างเนื้อหมูให้สะอาด ก่อนนำไปปรุง
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อหมูดิบ ปรุงสุกให้ทั่วถึงด้วยความร้อน 60 – 70 องศาเซลเซียส ในเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที เพื่อทำลายเชื้อโรคและตัวอ่อนพยาธิ
หมายเหตุ : หากรับประทานอาหารปิ้งย่าง ควรแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน ประกอบอาหารโดยไม่ใช้เขียงของดิบและของสุก ผัก หรือผลไม้ร่วมกัน
3. เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
4. ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบูท ถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง
หากพบว่ามีอาการป่วยหลังจากสัมผัสหรือรับประทานเนื้อหมูดิบ ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้หากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็ว จะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้
การรับประทานเมนูจากเนื้อหมูสุกๆ ดิบๆ เช่น อาหารภาคเหนืออย่างลาบหมูดิบ หลู้ ส้า แหนม จิ้นส้ม อาหารภาคอีสานอย่างก้อยหมูดิบ หรือแม้แต่เมนูทั่วไปอย่างหมูกระทะ ปิ้งย่าง แบบกึ่งสุกกึ่งดิบ สามารถเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิสที่เป็นอันตรายต่อร่างกายไปจนถึงการเสียชีวิตได้
ในกรณีกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ มักพบว่า มีความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น การได้ยินเสียงลดลง ซึ่งพบได้บ่อยกว่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ แม้ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีอัตราการตายต่ำก็ตาม และยังพบว่า ภายหลังการรักษาจะยังมีความผิดปกติทางระบบประสาทการได้ยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ยินที่ระดับเสียงความถี่สูง พบได้บ่อยถึง ร้อยละ 50
ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า โรคไข้หูดับ ผู้ป่วยจะสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร และบางรายสูญเสียการทรงตัวในการเคลื่อนไหว ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตค่อนข้างมาก
ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกลับมาได้ยิน ทั้งนี้การผ่าตัดประสาทหูเทียมมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงการดูแลหลังผ่าตัด การฟื้นฟู และการดูแลอุปกรณ์ เป็นต้น
ปรึกษาปัญหาการได้ยิน หูตึง หูหนวก หูดับ พร้อมรับแนวทางการแก้ไขการได้ยินอย่างเหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคุณและคนที่คุณรัก ผู้เชี่ยวชาญพร้อมสนับสนุนการได้ยินของคุณ
ปรึกษาด้านการได้ยิน อุปกรณ์ช่วยเหลือการได้ยิน