มนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับเซลล์ขนราว 16,000 เซลล์ เซลล์ขนที่บอบบางนี้มีบทบาทสำคัญในการได้ยิน และเมื่อพวกมันเสียหายหรือถูกทำลายแล้วจะไม่สามารถซ่อมแซมได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้น นั่นคือ การสูญเสียการได้ยิน ความเสียหาย หรือการถูกทำลายเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย เช่น อายุ การสัมผัสเสียงดัง ยา กรรมพันธุ์ อุบัติเหตุ ฯลฯ [อ่าน…สาเหตุการสูญเสียการได้ยิน]
ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อเป็นเรื่องของการได้ยิน การเปรียบเทียบการได้ยินของตัวเองกับสถานการณ์ของผู้อื่น ไม่มีประโยชน์
¹Gainey นักโสตสัมผัสวิทยาจากรัฐเท็กซัส กล่าวว่า มันก็เหมือนปุ่มรับรสที่รับรสชาติอาหาร แม้ว่าคุณทานอาหารมื้อเดียวกันกับผู้อื่น แต่คุณจะได้สัมผัสกับรสชาติของอาหารที่แตกต่างออกไป การได้ยินนั้นมีความซับซ้อน เสียงผ่านหูของคุณ แต่คุณตีความมันด้วยสมองของคุณ และ “สมองของคุณก็เหมือนกับลายนิ้วมือ” ซึ่งก็คือ มันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คนสองคนอาจมีออดิโอแกรมเดียวกัน แต่จะยังคงได้ยินต่างกันในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
นอกจากนี้ Anderson นักโสตสัมผัสวิทยาจากแคลิฟอร์เนีย ยังกล่าวว่า “ฉันมีออดิโอแกรม 10 แผ่น มันอาจจะเหมือนกันหมด” แต่ผลกระทบต่อการทำงานและผลลัพธ์อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับผู้คนใช้เครื่องช่วยฟังอย่างไร และวิธีที่พวกเขาเลือกจัดการกับการสูญเสียการได้ยิน
ภาพแสดง ออดิโอแกรม (Audiogram) กราฟแสดงระดับการได้ยินของ หูซ้าย และ หูขวา
จะเห็นได้ว่า ทั้งการรับรสชาติอาหารในมื้อเดียวกัน หรือแม้แต่ออดิโอแกรมที่เหมือนกัน ต่างให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ทุกอย่างถูกควบคุมและแปลความหมายโดยสมอง สมองที่ทำหน้าที่เรียนรู้ และจดจำ จนกลายเป็นประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
ออดิโอแกรม เดียวกัน
ผลลัพธ์การได้ยิน แตกต่างกัน
หลายคนอาจสงสัยว่า ออดิโอแกรมเดียวกัน การได้ยินเดียวกัน ทำไมบางคนใส่เครื่องช่วยฟังแล้วฟังได้ดี และในบางคนใส่เครื่องช่วยฟังแล้วยังฟังได้ไม่ดี ผลลัพธ์การได้ยินที่แตกต่างกันนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังเช่นปัจจัย 5 ข้อ ต่อไปนี้
5 ปัจจัย ที่ทำให้ผลลัพธ์
การใส่เครื่องช่วยฟังแตกต่างกัน แม้ออดิโอแกรมเดียวกัน
1. ประเภทเครื่องช่วยฟัง รุ่นเครื่องช่วยฟัง
แน่นอนว่า เทคโนโลยีในเครื่องช่วยฟังแต่ละรุ่น ฟังก์ชันการทำงานของเครื่องช่วยฟังแต่ละประเภท มีความแตกต่างกัน การรับฟังเสียง และความสบายในการสวมใส่มีผลต่อการใช้งาน แม้ว่าคุณจะสวมเครื่องช่วยฟังรุ่นเดียวกัน ประเภทเดียวกัน ออดิโอแกรมเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้ยินเหมือนๆ กัน การได้ยินมีความซับซ้อน ประสาทสัมผัสมีความไวแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของบุคคล
2. สภาพแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน
หากสภาพแวดล้อมที่คุณอยู่เป็นพื้นที่ที่เงียบสงบ อาจเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการใส่เครื่องช่วยฟัง เพราะเสียงทุกเสียงจะเข้ามา ช่วงแรกคุณอาจรู้สึกว่ามันเสียงดัง แต่อย่ากังวลและขอให้คุณอดทน นั่นคือเสียงที่คนหูปกติได้ยินและเป็นเสียงที่คุณควรได้ยินเช่นกัน สมองของคุณกำลังเรียนรู้และจดจำข้อมูลเสียงเหล่านั้นใหม่
Tips : คุณอาจเริ่มต้นฝึกฟังเสียงจากห้องนอนเงียบๆ ของคุณ พื้นที่ภายในบ้าน รอบตัวอาคาร สนทนากับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนของคุณ และเมื่อเริ่มฟังได้ดี คุ้นเคยกับเสียงแล้ว พาตัวคุณเองไปสถานที่ใหม่ สถานการณ์ใหม่ๆ
3. อายุ
อายุมีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียนรู้และจดจำข้อมูลเสียงใหม่ของสมอง ผู้สูงอายุอาจใช้เวลาในการเรียนรู้นานกว่าคนวัยหนุ่มสาว อายุที่เพิ่มมากขึ้น ความเสื่อมถอยของอวัยวะเพิ่มมากขึ้น
4. สาเหตุ และระยะเวลาการสูญเสียการได้ยิน
บางรายสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลันและได้รับการใส่เครื่องช่วยฟังที่รวดเร็ว การฟื้นฟูการฟังจึงกลับมาได้เร็ว กรณีสูญเสียการได้ยินในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักเป็นความเสื่อมตามวัย การได้ยินทั้งสองข้างลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระดับเท่าๆ กัน ผู้สูงอายุอาจคุ้นชินและคิดว่าได้ยินปกติ สมองก็จะชินกับมันเช่นกัน
สมาชิกในครอบครัว ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุ เช่น ฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์เสียงดัง พูดหรือถามคำถามเดิมซ้ำๆ ฯลฯ [อ่าน…สัญญาณบ่งชี้อาการหูไม่ได้ยิน]
การตรวจพบอาการหูไม่ได้ยินเร็ว และได้รับการใส่เครื่องช่วยฟังอย่างทันท่วงที การฟื้นฟูการได้ยินจะเป็นไปได้ง่ายและใช้เวลาไม่นานก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ แต่หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน แล้วจึงใส่เครื่องช่วยฟัง การฟื้นฟูจำเป็นต้องใช้เวลา สมองจะค่อยๆ เริ่มเรียนรู้ข้อมูลเสียงใหม่
5. จำนวนชั่วโมงในการใส่เครื่องช่วยฟัง
เพื่อให้การได้ยินและสมองของคุณเชื่อมโยงกัน คุณควรสวมเครื่องช่วยฟังตลอดทั้งวัน แม้ว่าคุณจะอยู่บ้านคนเดียวก็ตาม สิ่งนี้จะช่วยให้การได้ยินและสมองของคุณคมชัด และถอดออกเมื่อคุณเข้านอน หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำ เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ว่ายน้ำ ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไป หากคุณใส่เครื่องช่วยฟังอย่างสม่ำเสมอ สมองจะคุ้นเคยกับเสียงและปรับตัว
การใช้เครื่องช่วยฟังเป็นระยะๆ ไม่ต่อเนื่อง สวมเครื่องช่วยฟังเฉพาะเวลาออกจากบ้าน แล้วคาดหวังว่าคุณจะได้ยินดีในไม่ช้า คุณอาจคิดผิด สมองของคุณจะปรับตัวเข้ากับสภาวะใหม่ๆ และคุณจะใช้ความพยายามมากขึ้นในการได้ยิน
แม้ว่าคุณจะมีออดิโอแกรมเดียวกัน สวมเครื่องช่วยฟังรุ่นเดียวกัน รูปแบบเดียวกันก็ตาม ด้วยปัจจัยทั้ง 5 นี้ สามารถสร้างผลลัพธ์การได้ยินให้แตกต่างกันได้ และหัวใจของการได้ยินนั่นคือ สมอง สมองที่เรียนรู้ และจดจำ สั่งสมจนมาเป็นประสบการณ์ สร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่งในแต่ละบุคคล
ไม่สำคัญว่า ออดิโอแกรมของคุณจะเหมือนหรือแตกต่างกัน สิ่งสำคัญและเป็นเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ การได้ยินดี พาคุณมุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น